31 มี.ค. 2554

คนจีน (บางคน) ยอมอดเพื่อซื้อของแบรนด์เนม

Image source: asianoffbeat.com

เมื่อวานผมได้คุยกับคนจีนที่มาเที่ยวที่ภูเก็ตคนนึง บังเอิญว่าเขาเป็นคนชอบสะสมเปลือกหอยเหมือนเพื่อนผม ก็เลยได้ชวนกันไปกินข้าว เพื่อนผมก็ชวนผมไปด้วย เผื่อไปเป็นเพื่อนคุยกับเขา

ในระหว่างที่กินข้าวไปคุยกันไป มีตอนหนึ่งเราก็คุยกันว่าคนจีนสมัยนี้มีฐานะดีขึ้นมาก ผมจึงเล่าให้เขาฟังว่าผมเพิ่งอ่านเจอมาว่าประเทศจีนกำลังจะเป็นตลาดสินค้าหรูแบรนด์เนมที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเขาก็ไม่ประหลาดใจอะไร แต่เขาเล่าให้ผมฟังเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมนี้ของคนจีน ซึ่งน่าสนใจดี ผมก็เลยเอามาเล่าต่อในบล็อกนี่แหละ

เขาบอกว่าคนจีนที่ชอบซื้อของแบรนด์เนมราคาแพงมีอยู่สองประเภท ประเภทแรกเป็นกลุ่มคนที่ภาษาจีนเรียกว่า 暴发户 (เป้า ฟา ฮู่) หรือ "เศรษฐีใหม่" ที่ร่ำรวยขึ้นมาอย่างรวดเร็ว คนเหล่านี้รวยจริง มีเงินจริง จะซื้อหากระเป๋าหลุยส์ หรือนาฬิกาโรเล็กซ์มาใส่ไม่ใช่ปัญหา แต่ด้วยความที่รวยเร็วแบบปัจจุบันทันด่วน จึงปรับตัวทางวัฒนธรรมไม่ทัน กลายเป็นคนชอบอวดร่ำอวดรวยไปเลย

มีเรื่องตลกที่คนจีนเขาเล่ากันเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ว่า คนจีนสองคนเป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่กัน แต่ไม่ได้เจอกันมานาน คนหนึ่งยังจนเหมือนเดิม แต่อีกคนหนึ่งโชคดีรวยขึ้นมาอย่างปุบปับ ทั้งเนื้อทั้งตัวเต็มไปด้วยเครื่องเคราเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง ทั้งที่คอ ที่ข้อมือ นิ้วมือ ตลอดจนเสื้อผ้าอาภรณ์ทุกอย่าง วันหนึ่งเพื่อนสองคนนี้มาเจอกันโดยบังเอิญ หลังจากที่ไม่ได้เจอกันมานาน อาการของคนที่รวยแบบไม่ทันตั้งตัวก็แสดงออกอย่างน่าขำ ประมาณว่าชอบแบะคอเสื้อออกให้เห็นสร้อยที่คอ ชอบกวาดมือผ่านหน้าเพื่อนช้า ๆ ให้เห็น accessories ที่ข้อมือหรือนิ้วมือชัด ๆ อะไรทำนองนั้น ผมก็พยายามบรรยายตามท่าทางที่เขาทำให้ดูนะครับ คุณคงเดาออกว่าเขาทำกันยังไง

อันนี้เรียกว่าพวกรวยแบบไม่ทันตั้งหลัก เลยออกอาการเป๋ ๆ ให้ชาวบ้านเขาขำ ๆ น่ะ แต่บางคนอาจจะอิจฉาก็ได้

อีกพวกหนึ่งที่ชอบซื้อของแบรนด์เนมแพง ๆ ใส่ คือพวกที่เขาเรียกว่า 虚荣心 ผมไม่รู้ว่าจะใช้คำไทยว่าอะไรดี ประมาณว่าเป็นคนประเภทขาดความมั่นใจในตัวเอง ต้องหาสิ่งของนอกกายมาช่วยให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น คนเหล่านี้ที่จริงไม่ได้รวยอะไร เป็นพนักงานบริษัท เงินเดือนอาจจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปบ้าง แต่ก็ไม่พอจะซื้อหาของแพงมาใช้ได้ง่าย ๆ แต่ด้วยความที่เป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเองอย่างมาก จึงต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งอื่นมาเยียวยาตัวเอง 

เขาเล่าว่าบางคนถึงกับยอมกินแต่อาหารถูก ๆ พวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เงินเดือนแทบไม่ใช้ พยายามเก็บ เก็บ เก็บ หลายเดือน จนมีเงินพอไปซื้อกระเป๋ามาใบนึง ซึ่งราคาอาจเท่ากับเงินเดือนสามสี่เดือนรวมกันเลยทีเดียว เรียกว่าอาการหนักเลยครับ

ก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมบางอย่างของชาวจีนบางส่วนในปัจจุบัน โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าคนจีนส่วนใหญ่ขาดที่พึ่งทางจิตใจ เพราะศาสนาถูกทำลายไปมากในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ยึดถือกันแต่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านก็เสื่อมความศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไปมากแล้ว เลยกลายเป็นช่องว่างที่กลวง ๆ ในจิตใจ (หรือจิตวิญญาณ) ทำให้ค่านิยมวัตถุเข้ามาครอบงำได้ง่าย ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ

28 มี.ค. 2554

โฆษณาออนไลน์ภาษาจีน แปลผิดเสียหายหลายแสน

ภาพประกอบจาก sojuandi.blogsome.com

ผมเคยเขียนถึงการแปลเว็บไซต์เป็นภาษาจีนไปครั้งนึงแล้ว ในหัวข้อที่ว่าควรจะให้ใครแปลให้ถึงจะออกมาดี มาคราวนี้ผมไปเจอบทความหนึ่งในบล็อกของบริษัทการตลาดออนไลน์ในประเทศจีนแห่งหนึ่ง มีกรณีศึกษาของการแปลผิดและสร้างความเสียหายต่อกิจการมาก จึงคิดว่าน่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

บทความนี้เล่าถึงการทำแคมเปญการตลาดออนไลน์ในประเทศจีนด้วยการลงโฆษณาแบบจ่ายเมื่อคลิก (Pay per click - PPC) ของบริษัทรับจองโรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่งการแข่งขันในธุรกิจนี้รุนแรงมาก มีคู่แข่งรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ค่าโฆษณาต่อคลิกก็สูงมากด้วย

ผู้เขียนเล่าว่าตอนที่รับงานมานั้น ลูกค้าได้ใช้เงินในการโฆษณากับ Baidu PPC ไปแล้วกว่า 10,000 ยูโร แต่ผลลัพธ์ด้านยอดจองโรงแรมกลับต่ำมากเมื่อเทียบกับจำนวนคลิกที่มีถึงหลายพันคลิก

เมื่อเขาทำการตรวจสอบคีย์เวิร์ด การเขียนคำโฆษณา และการแปลข้อความ เขารู้สึกช็อคกับปัญหาที่เจอ สาเหตุที่ทำให้ยอดการจองต่ำเกิดจากการแปลข้อความผิดมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ การแปลมีปัญหาตั้งแต่ชื่อเมืองที่แปลผิดกว่าครึ่ง และพิมพ์ผิดเต็มไปหมด เช่น เมือง ก ถูกแปลเป็นเมือง ข ซึ่งอยู่คนละทวีป ทำให้คีย์เวิร์ดที่ใช้ก็ผิด คำโฆษณาก็ผิด

ตัวอย่างเช่น เมื่อเขาทดลองค้นหาคำว่า "华盛顿酒店" (Washington Hotel) ก็จะพบโฆษณาของลูกค้าปรากฏอยู่ทางด้านขวาของหน้าผลการค้นหา แต่เมื่อคลิกที่โฆษณานั้น มันจะพาไปที่หน้า landing page (หน้าเว็บที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับโฆษณา) ของลูกค้า ที่จะมีรายละเอียดของโรงแรมในเมืองวอชิงตัน แต่ที่ title ของหน้านี้กลับเขียนว่า "hotel in Zurich" เป็นต้น

เขาได้ทำการทดลองกับอีกหลาย ๆ คีย์เวิร์ด และพบว่าคำโฆษณาเกือบทั้งหมดมีการแปลที่ผิดพลาด ทั้งใน landing page หรือใน title มันดูมั่วไปหมด คีย์เวิร์ดที่ผิดนำไปสู่ landing page ที่ไม่ตรง หรือคีย์เวิร์ดที่ผิดทำให้ข้อความโฆษณาไปปรากฏผิดที่ผิดทาง สรุปว่าเงิน 10,000 ยูโรที่ลงไปนั้นเท่ากับสูญไปเปล่า ๆ

เมื่อเขาสอบถามผู้รับผิดชอบเรื่อง PPC ของลูกค้า เธอบอกว่าปัญหาเกิดจากการใช้เครื่องมือแปลฟรีจาก Baidu.com โดยไม่มีการตรวจสอบโดย proofreader เลย

กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเราที่ควรจะให้ผู้มีความรู้ที่เป็นเจ้าของภาษาเป็นผู้แปลหรือตรวจสอบข้อความก่อนจะนำไปใช้ในการทำตลาด

ทำนองเดียวกัน การแปลเว็บไซต์ก็เหมือนกัน การแปลผิด ๆ ถูก ๆ นอกจากจะทำให้เว็บไซต์ดูไม่น่าเชื่อถือในสายตาของเจ้าของภาษาและทำลายแบรนด์แล้ว บางครั้งมันอาจทำให้เว็บไซต์ของคุณไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ห่างไกลจากกลุ่มเป้าหมายที่คาดหวัง จนไม่อาจจะหวังผลทางยอดขายอะไรได้เลย

ที่มา China Online Marketing

ธนาคาร ICBC สาขาภูเก็ต


วันนี้ผมแวะไปจ่ายเงินค่าเคเบิ้ลทีวีแถว บ.ข.ส. จึงถือโอกาสแวะเข้าไปในธนาคารไอซีบีซี (Industrial and Commercial Bank of China - ICBC) หรือที่คนจีนเรียกกันว่า 中国工商银行 (จงกว๋อกงซางหยินหัง) สาขาภูเก็ต เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการโอนเงินไปประเทศจีนครับ

สำหรับท่านที่มีธุรกิจธุรกรรมที่ต้องโอนเงินไปประเทศจีน ถ้าโอนผ่านธนาคารอื่น ๆ จะเสียค่าธรรมเนียม 650 บาทต่อครั้ง ไม่จำกัดจำนวนเงิน แต่ถ้าโอนผ่านธนาคาร ICBC จะเสียเพียง 600 บาท ก็ถือว่าประหยัดไปได้นิดหน่อย

เหตุที่ผมแวะไปสอบถามเรื่องนี้ก็เพราะว่า ผมเคยคุยกับเพื่อนที่เมืองฉงชิ่งว่าจะให้เขาช่วยดูงานแปลภาษาจีนให้ และจะโอนเงินค่าใช้จ่ายให้เขาทางธนาคาร พอเห็นสาขาของธนาคารจีนในภูเก็ตก็เลยต้องเข้าไปถามซะหน่อย

นอกจากนี้ ผมยังได้พูดคุยกับพนักงานมานิดหน่อย เกี่ยวกับที่มาของธนาคาร ICBC สาขาภูเก็ตนี้ จึงได้ทราบว่า เดิมทีที่ตรงนี้เป็นสาขาของธนาคารสินเอเชีย แต่ต่อมาได้ถูกเทคโอเวอร์ไปโดยธนาคาร ICBC ของจีน ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว และได้ทำการรีแบรนด์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ปัจจุบันที่สาขาก็มีบริการฝาก-ถอน โอนเงิน สินเชื่อ ทั่ว ๆ ไป ยังไม่มีบริการอะไรเป็นพิเศษสำหรับลูกค้าจีน หรือธุรกรรมที่เกี่ยวกับประเทศจีน ยกเว้นเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนเงินตามที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้ว

สำหรับที่ตั้งของสาขานี้ อยู่ตรงทางเข้า บ.ข.ส. ภูเก็ต ติดกับร้านก๋วยเตี๋ยวเบรคแตกเลยครับ

ธนาคาร ICBC ถือว่าเป็นธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งของจีน มีสาขาอยู่ทั่วประเทศจีน และกำลังขยายการลงทุนไปในต่างประเทศทั่วโลก โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็มีข่าวว่าได้เข้าไปซื้อหุ้นของธนาคารแห่งหนึ่งในอเมริกาด้วย

เศรษฐกิจจีนนี่มันอเมซิ่งจริง ๆ ครับ

อ้างอิง China ICBC bank to enter US market

26 มี.ค. 2554

Baidu ขึ้นมาเป็นบริษัทอินเตอร์เน็ตอันดับหนึ่งของจีนแล้ว


หากคุณคิดจะโปรโมทเว็บไซต์ให้คนจีนรู้จัก คุณจำเป็นต้องรู้จัก Baidu (ไป่ตู้) เพราะมันเป็นเว็บเครื่องมือค้นหา (search engine) ที่คนจีนใช้กันมากที่สุด พูดง่าย ๆ ก็คือมันเป็นเหมือน Google ในประเทศจีนนั่นเอง

หลายวันก่อนผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์เจ้าของร้านถ่ายภาพแต่งงานแห่งหนึ่งในเมืองภูเก็ต เว็บไซต์ของร้านเขามีเวอร์ชั่นภาษาจีนด้วย กว่าจะทำสำเร็จต้องให้ไกด์ทัวร์จีนมาช่วยตรวจปรู๊ฟกันอยู่หลายรอบ แต่เจ้าของกลับบอกผมว่าเขายังไม่รู้เลยว่าจะเช็คได้อย่างไรว่าคนจีนหาเว็บเขาเจอหรือเปล่า ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนจีนเขาค้นหาข้อมูลกันจากเว็บอะไร

ผมขออนุญาตแนะำนำวิธีสั้น ๆ ไว้ที่นี้ก็แล้วกัน

ก่อนอื่นต้องหาคำภาษาจีนที่จะใช้ในการค้นหาก่อน เช่น ถ้าเป็นร้านถ่ายภาพแต่งงานก็อาจจะเป็นคำว่า "普吉岛婚纱摄影" (แปลว่า Phuket wedding photo) ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่คงจะพิมพ์เองไม่ได้ อาจจะขอให้คนที่รู้ภาษาจีนช่วยพิมพ์ให้ หรือลองเข้าไปใช้เครื่องมือแปลของ Google ดู โดยให้แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาจีนแบบย่อ เมื่อได้คำแปลมาแล้วก็ก๊อปปี้มาใส่ในกล่องข้อความค้นหาของ Baidu (www.baidu.com) แล้วคลิกที่ปุ่มข้าง ๆ หรือกด Enter ก็ได้ คุณก็จะได้ผลการค้นหาคล้าย ๆ กับหน้าผลการค้นหาของ Google เลยครับ

ระหว่างที่เขียนบทความนี้ผมได้ทดลองแปลคำว่า Phuket wedding photo บน Google translate ดูด้วย ปรากฏว่ามันแปลออกมาเหมือนคำที่ผมคิดไว้เป๊ะเลย แจ๋วมั้ยล่ะ แต่บางคำพี่ Google ก็แปลผิดเหมือนกันนะครับ ถ้าอยากได้คำที่ถูกต้องชัวร์ ๆ ก็หาคนที่รู้ภาษาจีนช่วยดูให้ดีกว่าครับ

เอาล่ะ เรามาดูเรื่อง Baidu ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในจีนกันต่อดีกว่า

เป็นข่าวจากเว็บไซต์ China Internet Watch รายงานว่าหุ้นของบริษัท Baidu มีราคาสูงขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไปที่ 132.58 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น (ใช่แล้วครับ บริษัทไอทียักษ์ ๆ ของจีนเขาไปเข้าตลาดหุ้นที่อเมริกากันครับ) ทำให้บริษัท Baidu มีมูลค่าในตลาด 4.62 หมื่นล้านเหรียญ มากกว่าบริษัท Tencent (ยักษ์ใหญ่ไอทีอีกรายหนึ่งของจีน) ซึ่งมีมูลค่าตลาด 4.55 หมื่นล้านเหรียญ Baidu จึงแซงขึ้นมาเป็นบริษัทอินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

ในข่าวไม่ได้บอกว่าราคาหุ้นของ Baidu พุ่งขึ้นเพราะอะไร แต่หลายวันก่อนผมเจอข่าวที่ลือกันว่า Baidu กับ Facebook กำลังแอบเจรจาเรื่องความร่วมมือในจีนกันอยู่ ถ้าตกลงอะไรกันได้ล่ะก็ งานนี้หุ้นของ Baidu อาจจะพุ่งขึ้นแรงกว่านี้อีกก็ได้

ที่มาข่าว China Internet Watch

23 มี.ค. 2554

Chloe อีกหนึ่งแฟชั่นแบรนด์ดังที่รุกตลาดจีน

ขอบคุณภาพประกอบจาก luxuo.com

เป็นเรื่องที่คนรุ่นผมที่เคยไปทำงานในประเทศจีนเมื่อสิบกว่าปีก่อนรู้สึกทึ่งที่เห็นสินค้าแบรนด์เนมหรู ๆ ตบเท้าเข้าสู่ตลาดประเทศจีนกันอย่างคึกคัก สมัยก่อนเวลาเราไปเดินในห้างสรรพสินค้าจีนแทบไม่เจอสินค้ายี่ห้อต่างประเทศเลย แต่ลองไปดูเดี๋ยวนี้สิ ยิ่งกว่าห้างหรูที่กรุงเทพฯ เสียอีก

ตามเนื้อข่าวที่ผมนำมาจากเวบ The Wall Street Journal ระบุว่า ผู้บริหารของ Chloe คาดว่าจีนจะเป็นตลาดอันดับหนึ่งของแบรนด์ภายในสองปี

Chloe ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นจากฝรั่งเศส ในปีนี้มีแผนจะเปิดร้านใหม่อีก 4 แห่งในจีน จากเดิมที่มีร้านสาขาอยู่แล้ว 9 แห่ง และตั้งใจจะเปิดให้ถึง 23 แห่งภายในปี 2015

บริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Co. ได้ประมาณการมูลค่าตลาดสินค้าหรูในจีนในปี 2010 ไว้ที่ 15,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง Chloe ตั้งเป้าว่าจะชิงส่วนแบ่งจากตลาดนี้ให้มากขึ้น

ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีร้านสาขาของ Chloe อยู่ประมาณ 40 แห่ง เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของแบรนด์ แต่มันจะถูกจีนแซงหน้าในไม่ช้านี้ เรื่องนี้ต้องขอบคุณการขยายตัวของประชากรเมืองและผู้หญิงวัยทำงานของจีนที่เก่งขึ้น

"จีนไม่เพียงแต่ไล่ตามโลก มันยังนำหน้าโลกด้วย" ผู้บริหารของ Chloe กล่าว

ผลการศึกษาของบริษัทวิจัย CLSA Asia-Pacific Markets ระบุว่า จีนจะเป็นตลาดสินค้าหรูที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2020 ซึ่งมูลค่าตลาดคาดว่าจะสูงกว่า 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้บริโภคจีนจะกลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของสินค้าแบรนด์เนมจำพวก กระเป๋าถือ นาฬิกา เสื้อผ้า และสร้างกำไรให้แก่ธุรกิจค้าปลีกระดับไฮเอนด์อย่าง Louis Vuitton และ Hermès

เว็บไซต์สำหรับลูกค้าจีนของ Chloe ได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และมีแผนที่จะโชว์งาน event ของตนบนเว็บไซต์ โดยหวังว่าจะจูงใจลูกค้ารุ่นหนุ่มสาวให้อยากเป็นเจ้าของสินค้าของแบรนด์บ้าง สนนราคาก็ไม่เท่าไหร่ กระเป๋าถือใบละ 13,000 ถึง 15,000 หยวน (ประมาณ 58,000 - 67,000 บาท) เท่านั้นเอง

และสินค้าของ Chloe จะขึ้นเว็บให้นักช้อปออนไลน์จีนซื้อหาได้ภายใน 18 เดือนนับจากนี้

ผมอยากรู้ว่าบรรดาอาเสี่ยเจ้าของโรงงานทำกระเป๋าก๊อปแถวเซินเจิ้นจะยอมรูดบัตรเครดิตซื้อของแท้ให้เมียหรือกิ๊กถือไปอวดชาวบ้านบ้างมั้ยนะ หุ หุ หุ

ที่มา The Wall Street Journal

22 มี.ค. 2554

Gaopeng (เกาเผิง) Groupon ในจีนเปิดตัวแล้ว


Groupon เป็นกิจการที่โด่งดังอย่างมากในช่วงปลายปี 2553 จากข่าวที่ว่า Google พยายามจะซื้อกิจการ Groupon ด้วยข้อเสนอเป็นเงิน 6 พันล้านดอลลาร์ แต่เจ้าของไม่ยอมขาย

หากคุณยังไม่รู้จัก Groupon ผมขอนิยามสั้น ๆ ในแบบของผมว่ามันคือเว็บขายคูปองลดราคาแบบเหมายกล็อต รายละเอียดเกี่ยวกับ Groupon ผมอยากให้อ่านบทความของ ดร. ภิเษก ชัยนิรันดร์ มีการวิเคราะห์โมเดลธุรกิจให้ด้วย

ในประเทศจีนมีข่าวการร่วมมือระหว่าง Groupon กับ Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของจีนมาตั้งแต่กลางเดือนมกราคม จนมีการเปิดตัวเว็บไซต์ Groupon ภาษาจีนในชื่อ Gaopeng (เกาเผิง) อย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจัดตั้งบริษัทในลักษณะการร่วมทุน

ตามรายงานข่าวระบุว่าเว็บไซต์ Gaopeng.com จะมีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างที่มีเฉพาะในจีน นั่นคือ สมาชิกสามารถรวบรวมกลุ่มผู้ซื้อและสร้างข้อเสนอเพื่อซื้อสินค้าในราคาที่ต้องการได้ ในขณะที่ผู้ค้าสามารถติดตามข้อเสนอดังกล่าวและตอบรับดีลเมื่อมีจำนวนผู้ซื้อในกลุ่มมากพอ

Tencent เป็นหุ้นส่วนที่น่าจะมีส่วนช่วยให้ Gaopeng เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในฐานะผู้ให้บริการ instant messaging รายใหญ่ที่สุดในจีนที่เรียกว่า QQ ซึ่งมีฐานสมาชิกมากกว่า 600 ล้านคน (มากกว่าจำนวนผู้ใช้ Facebook ซะอีก) โดยสมาชิก QQ สามารถใช้บัญชี QQ เพื่อ login เข้าใช้งานเว็บ Gaopeng ได้เลย นอกจากนี้ การใช้บัญชี QQ ซื้อคูปองในเว็บ Gaopeng ผู้ใช้ยังจะได้รับคะแนนสะสมพิเศษอีกด้วย เรียกว่าอวยกันสุด ๆ

ความสำเร็จอย่างรวดเร็วของ Groupon ที่อเมริกา ทำให้เกิดเว็บไซต์เลียนแบบมากมายในจีน มีอยู่รายหนึ่งถึงกับใช้ชื่อว่า Groupon.cn ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยกับ Groupon ต้นฉบับ ในจำนวนเว็บเลียนแบบเหล่านี้ เจ้าที่เป็นผู้นำในตลาดขณะนี้คือ Juhuasuan (จวี้-หวา-ซ่วน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Taobao ผู้นำในตลาด e-commerce ของจีน

Juhuasuan มียอดผู้เข้าชมเวบไซต์เดือนละเืกือบ 76 ล้านคน

ก็คงต้องดูกันต่อไปว่าเมื่อ Gaopeng ซึ่งมาจาก Groupon ต้นฉบับเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป

21 มี.ค. 2554

คนจีนก็ช้อปทางอินเตอร์เน็ตมากเหมือนกัน


ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด DDMA ซึ่งได้ทำการศึกษาตลาดออนไลน์ในเมืองใหญ่ระบุว่า ปีที่แล้วการซื้อขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตในประเทศจีนมีมูลค่า 82,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.46 ล้านล้านบาท) ตัวเลขดังกล่าวถึงแม้ว่าจะเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของมูลค่าการค้าปลีกทั้งหมด แต่ก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 95%

ตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ของจีนกำลังไล่ตามผู้นำในเอเชียอย่างเกาหลีและญี่ปุ่นมาอย่างกระชั้นชิดแล้ว

นักวิจัยได้ให้เหตุผลว่าการที่คนจีนหันมาซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตกันมากขึ้นก็เพราะว่าเมืองใหญ่ ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้กำลังขยายตัวออกไปทุกทิศทุกทาง บ้านพักอาศัยใหม่ ๆ ที่ราคาถูกกว่าเกิดขึ้นมากมายตามชานเมือง ในขณะที่ร้านค้าปลีกรายใหญ่ ๆ ยังตามไปเปิดสาขาใหม่ไม่ทันกับการขยายตัวของเมือง ดังนั้น คนจีนที่อาศัยอยู่นอกเมืองจึงมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่า เพราะไม่ต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงเพื่อเดินทางเข้าไปซื้อที่ร้านในเมือง

"ฉันซื้อสินค้าเกือบทุกอย่างทางอินเตอร์เน็ตยกเว้นของกินของใช้ประจำวัน ที่พักฉันอยู่ไกลมาก และคงต้องใช้เวลาสองถึงสามชั่วโมงเพื่อเข้าไปซื้อของในเมือง ส่วนการซื้อทางอินเตอร์เน็ตก็ได้ของเร็วมาก ของจะมาส่งถึงที่บ้านในวันที่สั่งซื้อเลย" สาวนักช้อปออนไลน์ซึ่งอาศัยอยู่ชานเมืองปักกิ่งอธิบาย

นอกจากนี้เธอยังสามารถคืนสินค้าได้ด้วยหากไม่พอใจ โดยพนักงานส่งสินค้าคนเดิมจะมารับสินค้าคืนถึงบ้านเช่นกัน

ฟังดูสะดวกสบายล้ำเลิศกว่าการช้อปออนไลน์บ้านเราเยอะเลย

นักวิจัยยังได้สัมภาษณ์นักช้อปออนไลน์อีกมากและพบว่าหลายคนมีประสบการณ์ที่ไม่น่าพอใจนักกับพนักงานขายสินค้าตามร้านค้า

พนักงานขายส่วนใหญ่มักจะเป็นแรงงานอายุน้อยจากต่างเมืองที่เข้ามาหางานทำในเมือง มีช่องว่างมากมายระหว่างพนักงานขายกับลูกค้า และส่วนใหญ่พนักงานขายเหล่านี้มักจะไม่ค่อยรู้อะไรมากนักเกี่ยวกับสินค้าที่พวกเขาขาย ดังนั้น นักช้อปที่ฉลาดมักจะทำการบ้านด้วยตัวเองโดยการศึกษาข้อมูลสินค้าจากอินเตอร์เน็ตก่อนจะตัดสินใจซื้อ

และก็เป็นไปได้มากที่เมื่อหาข้อมูลสินค้าจนพอใจแล้ว เขาก็อาจจะตัดสินใจซื้อทางอินเตอร์เน็ตไปเลย จะได้ไม่ต้องไปปวดหัวกับพนักงานขายอีก

"เราพบว่ามีหลายครั้งที่การซื้อเกิดขึ้นหลังจากใครสักคนหนึ่งในกลุ่มไปดูโทรศัพท์มือถือหรือ tablet computer ที่ร้านค้า แล้วกลับบ้านไปเล่าความประทับใจให้เพื่อนฟังทาง social media พวกเขาจะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และในที่สุดเพื่อนในกลุ่มบางคนก็จะตัดสินใจซื้อสินค้านั้น โดยไม่จำเป็นต้องไปดูสินค้าที่ร้านกันทุกคน" หัวหน้าทีมวิจัยเล่าให้ฟังถึงกระบวนการที่เกิดขึ้น

ผู้บริโภคในจีนดูเหมือนจะเชื่อถือเว็บไซต์มากกว่าพนักงานขาย ต่างจากทัศนคติของผู้ซื้อบางกลุ่มในยุโรปหรืออเมริกาที่คิดว่าการซื้อทางอินเตอร์เน็ตพวกเขามีโอกาสถูกหลอกขายสินค้าปลอมมากกว่าการซื้อจากร้านค้าจริง ๆ

ในจีนซึ่งเต็มไปด้วยสินค้าปลอม กลับกลายเป็นว่าการซื้อจากเว็บไซต์ของผู้ผลิตโดยตรงทำให้นักช้อปจีนรู้สึกสบายใจกว่ามาก

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าการซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตในประเทศจีนนั้น "อินเทรนด์" ขนาดไหน ในตอนท้ายของรายงานฉบับนี้ได้อ้างตัวเลขเกี่ยวกับเว็บไซต์ Taobao (เถาเป่า) เว็บ e-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในจีนว่า มีร้านค้าออนไลน์เปิดทำการอยู่ในเว็บไซต์นี้ถึง 30,000 ร้าน และมีการซื้อขายสินค้าราว 53,000 รายการในทุก ๆ นาที

เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้ว ผมว่าพ่อค้าแม่ขายบ้านเราน่าจะหาช่องทางเข้าไปขายกับเขาบ้างนะครับ

ที่มา BBC News

20 มี.ค. 2554

นักท่องเที่ยวจีนติดอันดับนักช้อปสินค้าหรูระดับโลก


จากเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยในบทความที่แล้ว ผมบังเอิญไปเจอรายงานอีกชิ้นนึง พูดถึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในยุโรป น่าสนใจดีครับ 

ที่ภูเก็ตผมเคยได้ยินพ่อค้าแม่ขายพูดถึงนักท่องเที่ยวจีนแตกต่างกันไป บางคนก็บอกว่าคนจีนมาเที่ยวอย่างเดียว ไม่ค่อยซื้อของ แต่บางคนก็บอกว่าคนจีนมีกำลังซื้อเยอะ กล้าซื้อของแพง ๆ

ผมคิดว่าคนจีนส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวภูเก็ตคงไม่ใช่ลูกค้ากระเป๋าหนักแบบคนยุโรปหรืออเมริกา แต่ก็มีคนจีนส่วนหนึ่งที่ "รวยจริง ๆ" และใช้แต่ของราคาแพง ผมเคยได้ยินข่าวว่ากระเป๋าหลุยส์วิตตอง (ของแท้นะครับ) ขายดีมากในประเทศจีน สินค้าหรูหราและแบรนด์เนมระดับโลกก็หันไปทำการตลาดกับเศรษฐีจีนกันมากขึ้น

ในรายงานข่าวจากเว็บไซต์ Asiaone News ระบุว่า ตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในร้านค้าปลอดภาษีสำหรับสินค้าแบรนด์เนมในยุโรปพุ่งสูงขึ้นมาก และแซงหน้าชาวรัสเซียไปแล้วเกือบเท่าตัว

โดยเฉลี่ยในปี 2553 นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายในร้านค้าปลอดภาษีในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 107% เฉพาะในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นถึง 130% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2552

หลายปีก่อนผมเคยได้ยินเรื่องทัวร์ศูนย์บาทของนักท่องเที่ยวจีนในเมืองไทย แต่ปัจจุบันกลายเป็นหนังคนละม้วนไปเสียแล้ว ในรายงานชิ้นนี้บอกว่า ถ้าไม่นับการช้อปปิ้งแล้ว ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนในแต่ละทริปประมาณ 2,000 ยูโร (ประมาณ 84,000 บาท) และค่าใช้จ่ายในการช้อปปิ้งคิดเป็นอัตราส่วนถึง 70% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเดินทางไปต่างประเทศแต่ละครั้ง 

ปีที่แล้ว โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายในร้านค้าปลอดภาษีคนละประมาณ 744 ยูโร (ประมาณ 31,200 บาท) ในขณะที่ชาวรัสเซียใช้จ่ายเพียง 368 ยูโร ส่วนนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาใช้จ่าย 554 ยูโร และชาวญี่ปุ่น 521 ยูโร

สินค้าที่นักท่องเที่ยวชาวจีนซื้อกันมากที่สุดคือ สินค้าแฟชั่น เครื่องประดับ และนาฬิกา และชาวจีนชอบช้อปในห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายมากกว่าร้านค้าเดี่ยว ๆ

ครับ ถึงแม้ว่าจะเป็นสถิติที่เกิดขึ้นในยุโรป แต่ก็อาจจะทำให้เรามองเห็นภาพได้พอสมควรว่านักท่องเที่ยวจีนมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร คงจะเป็นประโยชน์บ้างกับธุรกิจการท่องเที่ยวในบ้านเรานะครับ

ที่มา Asiaone News

18 มี.ค. 2554

ปี 2553 นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น 45%

ปี 2553 ที่ผ่านมาเป็นปีที่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยเยอะมาก ที่ภูเก็ตเวลาผมไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าทีไร ก็มักจะเห็นนักท่องเที่ยวจีนเดินกันขวักไขว่เต็มไปหมด ทำให้ผมอยากรู้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เราเห็นเดินกันมากมายนี้ จริง ๆ แล้วมีเท่าไร มากน้อยกว่าปีก่อนเท่าไร

ก็ไม่ยาก สมัยนี้มีข้อมูลอยู่มากมายบนอินเตอร์เน็ต หาให้เจอก็แล้วกัน

ผมได้ข้อมูลมาจากเว็บไซต์ของกรมการท่องเที่ยว (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) [1] ซึ่งมีสถิติเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวและข้อมูลอื่น ๆ ให้ดาวน์โหลดหลายอย่าง ใครสนใจก็แวะไปดูได้นะครับ

ปี 2553 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด 1,127,803 คน เทียบกับปี 2552 จำนวน 777,508 คน เพิ่มขึ้น 45.05%


นั่นเป็นตัวเลขจากกองตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ สำหรับจังหวัดภูเก็ตเอง ผมสนใจตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเข้าพักตามโรงแรมต่าง ๆ ในจังหวัดด้วย โดยในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาพักในจังหวัดทั้งหมด 131,109 คน เทียบกับปี 2552 จำนวน 69,053 คน เพิ่มขึ้น 89.87%


โดยภาพรวมพอจะสรุปได้ว่าปีที่แล้วการท่องเที่ยวไทยได้นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นมาก และโดยเฉพาะที่ภูเก็ตเพิ่มขึ้นเกือบ 90% ต้องเรียกว่า "บูม" เลยล่ะครับ

ผมไม่ใช่นักพยากรณ์จึงบอกไม่ได้ว่าการบูมนี้จะยังบูมต่อไปในปีนี้หรือเปล่า แต่อย่างน้อยเราก็มีตัวเลขของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์แล้ว อาจจะทำให้บางคนคาดได้ว่าปีนี้จะเป็นอย่างไร

เดือนมกราคมปี 2554 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 129,805 คน เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2553 แล้วเพิ่มขึ้น 21.4% และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามา 152,852 คน เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2553 เพิ่มขึ้น 0.09%

เฉพาะในช่วงวันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่ามีนักท่องเที่ยวจีนบินตรงมาจังหวัดภูเก็ตประมาณสี่หมื่นคน จนยอดจองห้องพักโรงแรมตามชายหาดเกือบเต็ม 100% [2]

ในรายงานข่าวชิ้นนี้ยังยืนยันสิ่งที่ผมรู้มาก่อนหน้านั้นคือ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจีนส่วนหนึ่งที่เดินทางมาเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น ถึงแม้สัดส่วนในตอนนี้จะมีเพียง 10% แต่ผมเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหากเรามีข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ฯลฯ ให้เขาได้ศึกษาและวางแผนการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่ และถ้าเป็นอย่างนั้น ปัญหานักท่องเที่ยวจีนถูกหลอกลวงทั้งจากทัวร์จีนหรือทัวร์ไทยน่าจะน้อยลงด้วยครับ

แล้วทั้งหมดนี้มันเกี่ยวอะไรกับบล็อกไชนีสเว็บทอล์คล่ะ ก็เกี่ยวตรงที่ถ้าเราจะทำเว็บไซต์ภาษาจีนหรือทำการตลาดออนไลน์ในประเทศจีน นักท่องเที่ยวเหล่านี้คือกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจกลุ่มหนึ่งของเราเลยทีเดียว และผมคิดว่ามันยังมีช่องว่างอยู่เยอะมาก เพราะเว็บที่คนไทยทำส่วนใหญ่เป็นเว็บภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ยังไม่ค่อยมีเว็บภาษาจีนสักเท่าไร

14 มี.ค. 2554

Renren (เหรินเหริน) คือ Facebook ของคนจีน


Renren.com ได้รับการกล่าวอ้างจากหลายแห่งว่าเป็นเว็บ Social network ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ด้วยตัวเลขจำนวนสมาชิกกว่า 160 ล้านคน และกำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นที่อเมริกากลางปีนี้

ที่มาของเว็บไซต์สังคมออนไลน์แห่งนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2005 โดยนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยชิงหัว (มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนในกรุงปักกิ่ง) ได้สร้างเว็บไซต์ที่ชื่อว่า Xiaonei.com (เซี่ยวเน่ย - แปลตรง ๆ ว่าในโรงเรียน) สำหรับเป็นเวบสังคมออนไลน์ของกลุ่มเพื่อนในมหาวิทยาลัย ในขณะที่ Mark Zuckerberg บิดาของ Facebook เพิ่งสร้างเว็บไซต์ของเขาที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในอเมริกาได้เพียงหนึ่งปี

เว็บ Xiaonei.com มีหน้าตาคล้ายกับ Facebook มาก จนบางคนเรียกว่าเป็น Copycat ของ Facebook แต่มันก็ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มนักศึกษาจีน ต้องขอบคุณรัฐบาลจีนที่บล็อคเว็บไซต์ Facebook ทำให้ Xiaonei ไม่ต้องแข่งขันกับเว็บต้นแบบของตัวเอง

ในปี 2006 เว็บ Xiaonei ถูกซื้อไปโดยบริษัท Oak Pacific Interactive และในเดือนสิงหาคม 2009 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Renren (เหรินเหริน - ทุก ๆ คน) รวมทั้งเปลี่ยนโดเมนเป็น www.renren.com

บริษัท Oak Pacific Interactive ยังเป็นเจ้าของเว็บ Social network อีกแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Kaixin.com (ไคซิน) ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2008 และมีฐานสมาชิกประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งต่อมา Oak Pacific Interactive ได้ประกาศรวมเว็บไซต์สองแห่งเข้าด้วยกัน โดยสมาชิกเว็บหนึ่งสามารถใช้งานเว็บไซต์อีกเว็บหนึ่งได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำอีกครั้ง

เช่นเดียวกับ Facebook เว็บ Renren มีรายได้มาจากค่าโฆษณา ซึ่งมียอดขายโฆษณาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในแต่ละปี บริษัทเริ่มขายพื้นที่โฆษณาครั้งแรกในปี 2008 และมีการคาดการณ์ว่าจะมียอดขายโฆษณาสูงถึง 13,000 ล้านเหรียญในปี 2014

ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์ Renren.com จึงเป็นที่สนใจอย่างมากของนักการตลาดและเอเยนซี่โฆษณาที่ต้องการเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายในประเทศจีน

ผมได้ทดลองสมัครเป็นสมาชิกของเว็บ Renren.com ดูเหมือนกัน น่าสนใจตรงที่ผมสามารถระบุที่อยู่เป็นประเทศไทย และมีชื่อมหาวิทยาลัยในประเทศไทยให้เลือกในโปรไฟล์ด้วยครับ นอกจากนี้ผมยังเห็นดาราไทยหลายคนมี Fan page อยู่ในนั้นแถมมีแฟน ๆ ชาวจีนเยอะซะด้วย

หากคุณเชี่ยวชาญการทำตลาดบน Facebook อาจจะนำมาประยุกต์ใช้กับ Renren เพื่อทำการตลาดในประเทศจีนบ้าง อาจจะเวิร์คก็ได้ ของแบบนี้มันต้องลอง

10 มี.ค. 2554

Club Med ติดอันดับในหน้าแรกของ Baidu



ตอนที่ผมเขียนบทความเรื่อง "เว็บไซต์ภาษาจีน จำเป็นด้วยหรือ" นั้น ผมได้ทดลองค้นหาคำว่า 普吉岛 (แปลว่าภูเก็ต) บนเว็บไซต์ Baidu ซึ่งเป็น search engine อันดับหนึ่งในประเทศจีน เพื่อจะดูว่ามีเว็บไซต์ธุรกิจของภูเก็ตอะไรบ้างที่ติดอันดับ ผมพบว่าในหน้าแรกของผลการค้นหาส่วนใหญ่จะเป็นเว็บไซต์ของบริษัทเอเย่นต์จีนที่ขายแพ็คเกจทัวร์ รับจองโรงแรม หรือตั๋วเครื่องบิน แต่มีเว็บไซต์โรงแรมเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่ติดอันดับ คือ เว็บไซต์ของโรงแรม Club Med (Club Méditerranée)

ตอนนั้นผมก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าอะไรทำให้ Club Med ลงทุนลงแรงทำเว็บไซต์เวอร์ชั่นภาษาจีนและโปรโมทจนสามารถติดอันดับอยู่ในหน้าแรกของ Baidu ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็น keyword คำว่าภูเก็ตในภาษาจีน มาวันนี้ผมจึงพยายามหาคำตอบนั้นผ่าน Google จึงได้พบรายงานข่าวชิ้นนึงที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

เป็นรายงานข่าวในเว็บไซต์ Hotel News Resource ลงไว้ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ระบุว่ากลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของจีนที่ชื่อว่า Fosun ได้ซื้อหุ้นของ Club Med ไปถึง 7.1% ซึ่งมากพอที่จะทำให้ Fosun กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งที่สามารถเข้าไปมีส่วนในการกำหนดทิศทางการลงทุนของ Club Med ได้ โดยจะมีผู้แทนจาก Fosun เข้าไปนั่งอยู่ในบอร์ดบริหารของ Club Med ด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ ในรายงานข่าวชิ้นนี้ยังได้วิเคราะห์ถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดการท่องเที่ยวในประเทศจีนเอาไว้ด้วย นอกจากตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศจีนเองที่สร้างรายได้สูงถึง 1 ล้านล้านหยวนในปี 2009 แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ (outbound) ก็สูงมากถึง 40 ล้านคน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวขาออกที่มหาศาลขนาดนี้ย่อมนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจสำหรับรีสอร์ทของ Club Med ที่มีอยู่ทั่วโลกด้วย

Club Med นั้นได้ให้ความสนใจต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนมาหลายปีแล้ว โดยได้เข้าไปตั้งหน่วยขายไว้ตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดตลาดท่องเที่ยวในประเทศจีน และปัจจุบันได้มีสำนักงานอยู่ทั้งในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา และเฉิงตู ทำให้ในปี 2009 โรงแรม Club Med มีฐานลูกค้าในจีนมากถึง 23,000 ราย และได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะมีลูกค้าจีนมากถึง 2 แสนคนในปี 2015

ส่วน Fosun ซึ่งเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมในจีน มีเครือข่ายธุรกิจอยู่มากมาย จึงมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการเพิ่มยอดขายและขยายตลาดของ Club Med ในประเทศจีน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เว็บไซต์ภาษาจีนของ Club Med จะติดอันดับในหน้าแรกของผลการค้นหาบน Baidu

ก็เป็นอีกเืรื่องนึงของธุรกิจยักษ์ใหญ่ทำการตลาดระดับโลกที่สนใจตลาดจีนด้วย สำหรับธุรกิจโรงแรมขนาดกลางหรือเล็กคงไม่ใช่คู่แข่งกันโดยตรงอยู่แล้ว ผมเชื่อว่ายังมีนักท่องเที่ยวจีนระดับกลางอีกมากที่มองหาโรงแรมในระดับที่เหมาะสมกับกำลังซื้อของเขา ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำยังไงให้พวกเขาหาเราเจอได้ง่ายขึ้น และคงจะดียิ่งกว่าถ้าเขาสามารถติดต่อเราได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวแทนนายหน้านะครับ

ที่มา hotelnewsresource.com เรื่อง Club Mediterranee and Fosun Announce a Global Strategic Partnership in China

8 มี.ค. 2554

แปลเว็บไซต์เป็นภาษาจีน ให้ใครแปลดี?


สมมติว่าคุณได้อ่านบทความที่ผ่านมาของผม หรืออาจได้รับคำบอกเล่าจากคนอื่น ๆ จนเกิดความเชื่อแล้วว่าเว็บไซต์ของคุณควรจะมีภาคที่เป็นภาษาจีนกับเขาบ้าง ปัญหาที่ตามมาก็คือจะหาใครมาแปลเนื้อหาเว็บไซต์เป็นภาษาจีนดี

แม้ว่าตัวผมเองจะเคยเรียนภาษาจีนและเคยไปทำงานในประเทศจีนอยู่หลายปี แต่ขอบอกตามตรงว่าถ้ามีคนมาเสนองานแปลเว็บไซต์เป็นภาษาจีนผมยังไม่อยากรับแปลเองเท่าไหร่ เพราะผมรู้ตัวดีว่าผมไม่มีทางเขียนภาษาจีนได้เหมือนกับที่คนจีนเขาเขียนกัน โดยเฉพาะเป็นภาษาที่ใช้กันบนเว็บไซต์เชิงธุรกิจ ซึ่งต้องคำนึงถึงการใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องและสอดคล้องกับเป้าหมายทางการตลาดด้วย

งานแบบนี้มันก็คล้าย ๆ กับเวลาฝรั่งจะหาคนแปลเอกสารจากภาษาอังกฤษไปเป็นภาษาไทยนั่นแหละ ผู้แปลที่เหมาะสมที่สุดควรจะเป็นคนไทยที่รู้ภาษาอังกฤษดี และจะยิ่งดีขึ้นไปอีกหากมีประสบการณ์หรือมีความเข้าใจในธุรกิจของผู้ว่าจ้างด้วย

สำหรับงานแปลเว็บไซต์เป็นภาษาจีน ผมคงเลือกที่จะให้เพื่อนคนจีนแปลให้มากกว่าที่จะแปลเอง แต่ผมอาจจะตกแต่งแก้ไขถ้อยคำบางคำที่เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของประเทศไทย หรือปรับให้เหมาะสมกับการโปรโมทเว็บไซต์ได้บ้าง

หากว่าเว็บไซต์ที่คุณจะแปลเป็นเพียงเว็บไซต์เล็ก ๆ และไม่จำเป็นต้องละเอียดละออในการแปลมากนัก ก็อาจจะคุยกับครูสอนภาษาจีนของลูกคุณ หรือติดต่อครูจีนที่มาสอนภาษาในบ้านเราก็ได้ หาคนที่รู้ภาษาอังกฤษพอใช้ได้นะครับ แล้วคุณเองก็ต้องเตรียมต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษให้เขาด้วย เว้นแต่ว่าผู้แปลของคุณจะรู้ภาษาไทยด้วย ซึ่งผมว่ามีน้อยมากนะที่คนจีนจะรู้ภาษาไทยถึงขั้นอ่านออกเขียนได้น่ะ

ลืมไปได้เลยสำหรับคนที่กำลังคิดว่าจะใช้ Google translate หรือซอฟท์แวร์อื่น ๆ ในการแปลเว็บไซต์ ขนาดใช้คนที่รู้เรื่องแปลยังผิดเพี้ยนได้ แล้วนับประสาอะไรกับโปรแกรมที่แปลได้แค่เป็นคำ ๆ เท่านั้น ถ้าไม่อยากให้เว็บไซต์ของคุณมีอาการอย่างเดียวกันกับ "ซับนรก" ในซีดีก๊อปปี้หนังต่างประเทศถูก ๆ ล่ะก็ หาคนเป็น ๆ มีชีวิตจริง ๆ มาแปลดีกว่าครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

แปลเว็บไซต์เป็นภาษาจีน ต้องแปลทั้งเว็บเลยหรือเปล่า?

4 มี.ค. 2554

เว็บไซต์ภาษาจีน จำเป็นด้วยหรือ?

ถ้าผมเปิดอู่ซ่อมรถเล็ก ๆ แถวชานเมือง หรือเปิดร้านกาแฟแถวตลาดในเมือง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีเว็บไซต์ภาษาจีนให้ยุ่งยากหรอกครับ แม้แต่เวบไซต์ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ไม่จำเป็นเหมือนกัน แต่ถ้าผมมีโรงแรมบูติคเล็ก ๆ สักแห่ง ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ป่าตอง กะตะ กะรน และมีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเที่ยวกันเยอะมาก คงจะดีไม่น้อยหากว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเหล่านั้นสามารถหาเว็บไซต์ของผมเจอตั้งแต่พวกเขาเริ่มวางแผนจะมาเที่ยวเมืองไทย และสามารถจองห้องพักล่วงหน้าได้โดยตรงโดยใช้ภาษาของเขาเอง

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมได้รับงานแปลเล็ก ๆ ชิ้นนึงจากร้านสปาในเมืองภูเก็ต เป็นงานแปลรายการเมนูสปาเป็นภาษาจีน ผมถามเจ้าของร้านว่าลูกค้าของเขาส่วนใหญ่เป็นคนจีนอย่างนั้นหรือ เขาบอกว่าส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง ประมาณ 50% รองลงมาเป็นคนจีน 30% และอีก 20% เป็นคนไทย แต่ในเมนูของเขามีแต่ภาษาอังกฤษกับภาษาไทย ปีนี้มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวภูเก็ตเยอะมาก และเขาคิดว่าแนวโน้มจะมีมากขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงสมเหตุสมผลดีที่เขาอยากได้เมนูภาษาจีนไว้ใช้งานด้วย

ถ้าจะถามผมว่าจำเป็นด้วยหรือ ผมคงตอบแทนเจ้าของไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับว่าเขาประเมินคุณค่าของส่วนนี้อย่างไร และก็ขึ้นอยู่กับราคาที่เขาต้องจ่ายเพื่อให้ได้มันมาด้วย บางทีถ้ามันแพงเกินไปเขาอาจจะรอไปก่อนก็ได้

ผมว่าก็คล้าย ๆ กันกับกรณีเว็บไซต์นะครับ หากธุรกิจของคุณจำเป็นต้องมีเว็บไซต์ และลูกค้าส่วนหนึ่งของคุณเป็นคนจีน หรืออาจจะยังไม่ใช่ลูกค้าแต่เป็นกลุ่มที่คุณคาดหวังจะให้มาเป็นลูกค้าของคุณ แม้จะไม่ใช่กลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุด แต่ถ้ามีสัดส่วนมากพอ คุณก็อาจจะคิดเหมือนเจ้าของร้านสปาท่านนี้ก็ได้

ไม่จำเป็นต้องยกตัวเลขประชากรจีนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นหลักสิบล้านร้อยล้านมาเบิกตาให้ลุกวาวหรอกครับ เอาแค่ว่าในจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาเที่ยวภูเก็ตที่เราเห็น ๆ กันอยู่นี้ ให้มีสัก 5% หรือ 10% รู้จักธุรกิจของคุณโดยไม่ต้องผ่านนายหน้าตัวแทนใด ๆ เท่านี้ผมก็ว่าคุ้มค่าแล้วกับการมีเว็บไซต์ภาษาจีนแบบพื้นฐานไว้สักเว็บนึง

ผมลองค้นหาเว็บของธุรกิจในภูเก็ตที่มีเว็บภาษาจีนแล้ว พบว่ามีไม่มากเท่าไหร่ครับ ส่วนใหญ่จะเป็นเว็บโรงแรมระดับโลกที่มักจะมีหลายภาษาอยู่แล้ว แต่ก็มีเว็บท้องถิ่นบางเว็บเหมือนกัน อย่างเว็บ Suanluang Wedding ทำได้เหมือนกับเว็บจีนมากทีเดียว มีเพลงจีนให้ฟังด้วยครับ

Club Med Phuket

Marriott Phuket

Banyan Tree Phuket

Millennium Phuket

Phuket Fantasea

Thavorn Beach Village & Spa

Woraburi Phuket

Suanluang Wedding Studio