27 เม.ย. 2554

Ctrip เว็บไซต์เพื่อการเดินทางอันดับหนึ่งของจีน

ผมได้ยินชื่อเว็บไซต์ Ctrip ครั้งแรกจากรุ่นพี่คนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในประเทศจีน เขาต้องเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ ของจีนเพื่อเปิดตลาดสินค้าใหม่ เขาบอกผมในตอนนั้นว่าเว็บไซต์นี้ทำให้ชีวิตเขาสะดวกขึ้นมาก ไม่ต้องให้คนจีนช่วยติดต่อจองตั๋วเดินทางและโรงแรมอีกเลย สามารถทำเองได้หมดบนเว็บไซต์ซึ่งมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษด้วย

ผมก็เห็นชื่อเว็บไซต์นี้มาเรื่อย ๆ จากการหาข้อมูลนำมาเขียนลงในบล็อกภาษาจีนของผมเกี่ยวกับการเดินทางมาเที่ยวภูเก็ตของคนจีน และเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็ได้เห็นข้อมูลจากเว็บไซต์ China Internet Watch ว่า เว็บไซต์นี้เป็นเจ้าตลาดด้าน Online travel ในประเทศจีนอยู่

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมสนใจอยากรู้เกี่ยวกับเว็บไซต์นี้มากขึ้น จึงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและนำมาเสนอท่านผู้อ่านในบล็อกนี้

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Wikipedia ภาษาอังกฤษระบุว่า Ctrip (ภาษาจีนเรียกว่า 携程 - อ่านว่า "เสียเฉิง") เป็นเว็บไซต์เพื่อการเดินทาง โดยรูปแบบธุรกิจเป็นเอเยนต์รับจองตั๋วเดินทางและท่องเที่ยวต่าง ๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ที่เว็บไซต์หลักคือ www.ctrip.com

เป็นอีกหนึ่งบริษัทอินเตอร์เน็ตของจีนที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่อเมริกา โดยเข้าตลาดหุ้น NASDAQ ในปี ค.ศ. 2003 หลังการก่อตั้งบริษัทที่เซี่ยงไฮ้ในปี 1999

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Ctrip ภาษาจีนเองทำให้ผมรู้สึกว่าบริษัทนี้ไม่ใช่บริษัทเล็ก ๆ เลย ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 12,000 คน มีสำนักงานสาขาอยู่ในเมืองต่าง ๆ ของประเทศจีน 16 สาขา และในปี 2010 ที่ผ่านมายังได้เข้าไปซื้อหุ้นในบริษัททัวร์รายใหญ่ในไต้หวันและฮ่องกงด้วย

เว็บไซต์ Ctrip มีสมาชิกมากกว่า 50 ล้านคน ให้บริการจองโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน แพ็คเกจท่องเที่ยว การเดินทางเพื่อธุรกิจ เป็นต้น

ตัวเลขล่าสุดจากบริษัทวิจัย iResearch ในจีนระบุว่า ในไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้ Ctrip มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีน 47% ยังคงเป็นอันดับหนึ่ง ทิ้งห่างอันดับรอง ๆ อย่างไม่เห็นฝุ่น


ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไทยที่สนใจตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังบูมอยู่ในขณะนี้ก็คือ บนเว็บไซต์ Ctrip มีบริการรับจองโรงแรมและแพ็คเกจท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ผมเห็นโรงแรมจำนวนมากอยู่ในลิสต์บนเว็บไซต์นี้ด้วย เฉพาะโรงแรมในภูเก็ตที่ผมลองเช็คดู พบว่ามีมากกว่า 150 โรงแรมแล้ว

ผลการค้นหาโรงแรมในภูเก็ตบนเว็บ Ctrip ภาษาจีน

ผมคิดว่าผู้ประกอบการโรงแรมที่สนใจลูกค้ากลุ่มจีน ควรเข้าไปดูแลปรับปรุงข้อมูลของโรงแรมในเว็บนี้ให้ถูกต้องและครบถ้วนเสมอ คล้าย ๆ กับที่ท่านทำบนเว็บไซต์ Tripadvisor นั่นแหละครับ แต่หากโรงแรมของท่านยังไม่ได้อยู่ในลิสต์ของเว็บไซต์ Ctrip ก็น่าจะหาวิธีเพิ่มข้อมูลเข้าไปนะครับ อย่างน้อยก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่อาจจะนำลูกค้านักท่องเที่ยวจีนมาใช้บริการที่โรงแรมของท่านบ้างก็ได้

23 เม.ย. 2554

พิมพ์ภาษาจีนบน Google Translate ก็ได้ด้วย


วันนี้ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เห็นเครื่องมือเล็ก ๆ อันนึงบนหน้าเว็บไซต์ Google Translate มันคือโปรแกรมเล็ก ๆ ที่ใช้พิมพ์ภาษาจีนบนหน้าจอได้ เป็นตัวช่วยที่มีประโยชน์มากทีเดียว โดยเฉพาะเวลาที่ผมจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ของคนอื่นที่ไม่ได้ติดตั้งโปรแกรมพิมพ์ภาษาจีนเอาไว้

ผมพยายามค้นหาข้อมูลว่าเครื่องมือพิมพ์ภาษาจีนนี้มีที่มาอย่างไร เริ่มพัฒนาและเปิดให้ใช้เมื่อไร แต่ก็ไม่พบข้อมูลอย่างเป็นทางการจาก Google เลย ทำเหมือนเปิดให้ใช้แบบเงียบ ๆ ไม่กระโตกกระตาก แต่ของเค้าดีจริง ๆ ผมทดลองใช้ดูแล้ว ราบรื่นดีครับ

จากข้อมูลเท่าที่ผมพอจะหาได้ พบว่า Google ได้เปิดให้ใช้เครื่องมือนี้มาแล้วตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ถูกปิดไปชั่วคราวในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้ใช้เข้าไปโพสต์ตั้งคำถามไว้ใน Google Translate Discussion Group ว่าใช้ไม่ได้แล้ว และมีเจ้าหน้าที่จาก Google มาตอบว่าที่ต้องปิดไปเพราะมีข้อบกพร่องในโปรแกรม (bugs) แต่จะทำการแก้ไขและเปิดให้ใช้ได้ใหม่ในเร็ววัน

และตอนนี้มันก็เปิดให้ใช้แล้ว แต่เสียดายที่ไม่มีการแจ้งหรือประกาศใด ๆ บนบล็อกของ Google Translate เลย คงจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศให้มากเรื่อง

อันที่จริงเครื่องมือพิมพ์ภาษาต่างประเทศได้มีการพัฒนาโดย Google มานานแล้ว แต่อยู่ในหน้าเว็บอีกหน้าหนึ่งที่เรียกว่า Google Transliteration ซึ่งสามารถเลือกพิมพ์ภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา รวมทั้งภาษาจีนด้วย แต่การเอาเครื่องมือนี้ไปแปะไว้ที่หน้าเว็บแปลภาษาของ Google น่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่ต้องการหาคำแปลของภาษาจีนบางคำขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน ก็กดเลือก Allow phonetic typing ใต้ช่องใส่คำที่จะแปลได้เลย

สำหรับท่านที่เคยเรียนภาษาจีนในระบบพินอิน (Pinyin) มาแล้ว แต่ยังไม่มีระบบพิมพ์ภาษาจีนในคอมพิวเตอร์ อาจเป็นเพราะไม่รู้ว่าจะติดตั้งอย่างไร ก็อาจจะใช้เครื่องมือพิมพ์ภาษาจีนในหน้า Google Translate แทนไปก่อนก็ได้ ถ้าไม่ได้ใช้พิมพ์เอกสารยาว ๆ เป็นหน้า ๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ผมขอแนะนำวิธีใช้สั้น ๆ ก็แล้วกัน เผื่อสำหรับผู้ที่เพิ่งเรียนภาษาจีนมาบ้าง แต่ยังไม่เคยพิมพ์ภาษาจีนบนคอมพิวเตอร์นะครับ
  1. เข้าไปที่เว็บ Google Translate (http://translate.google.com/)
  2. เลือกภาษาที่จะแปลตรงหลังคำว่า From เป็น Chinese แล้วจะสังเกตเห็นว่า URL จะเปลี่ยนเป็นคล้าย ๆ แบบนี้ - http://translate.google.com/#zh-CN|en| 
  3. ติ๊กถูกตรงช่องหน้าคำว่า Allow phonetic typing 
  4. พิมพ์คำภาษาจีนเป็น Pinyin โดยไม่จำเป็นต้องใส่เสียงวรรณยุกต์ เช่น nihao ก็จะปรากฏคำในภาษาจีนที่อ่านว่า nihao มาให้เลือก โดยโปรแกรมจะเลือกคำที่ใช้บ่อยมาไว้ในอันดับต้น ๆ 
  5. เลือกคำที่ต้องการใช้ โดยการกดปุ่มตัวเลขบนคีย์บอร์ด ถ้าเป็นเบอร์ 1 จะกดแป้น space bar แทนก็ได้ 
  6. ถ้าตัวเลือกในชุดแรก (มี 5 ตัวเลือก) ไม่มีคำที่ต้องการ ให้คลิกที่ลูกศรชี้ลงหรือกดปุ่ม Page down บนคีย์บอร์ดเพื่อดูตัวเลือกชุดถัดไป 
  7. เมื่อเลือกตัวเลือกของคำที่ต้องการแล้ว คำภาษาจีนคำนั้นจะไปปรากฏอยู่ในช่องคำที่จะแปล และโปรแกรมก็จะทำการแปลทันที
เราสามารถ Copy คำจีนที่ได้จากหน้านี้ไป Paste ที่อื่นได้ด้วย เช่น เอาไปแปะในข้อความอีเมล์ที่จะส่งไปจีบหนุ่มหรือจีบสาวจีน เป็นต้น

20 เม.ย. 2554

ตลาดสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน


การช้อปปิ้งออนไลน์เป็นแนวโน้มที่จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศจีน สื่อที่ติดตามวงการอินเตอร์เน็ตของจีนจึงต้องติดตามเรื่องนี้ด้วย ในวันสงกรานต์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ China Internet Watch ได้แสดงชาร์ทที่มาจากบริษัทวิจัย iResearch ด้วยหัวข้อว่า Top 10 ร้านค้าปลีกออนไลน์ในประเทศจีน

จากชาร์ทที่นำมาแสดง จะเห็นได้ว่าในปี 2553 เว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ที่มียอดซื้อขายมากที่สุดนำโด่งอยู่เจ้าเดียวเลยก็คือ Taobao.com มีมูลค่าการซื้อขายตลอดทั้งปีเท่ากับ 30,000 ล้านหยวน (ประมาณ 150,000 ล้านบาท)

สองสามวันก่อนก็มีเพื่อนผมโทรมาถามเกี่ยวกับการซื้อสินค้าในเว็บ Taobao (เถาเป่า) ของจีน ซึ่งมีสินค้ามากมายให้เลือกซื้อ น่าจะเป็นแหล่งซื้อสินค้าเข้ามาขายในเมืองไทยได้อีกทางหนึ่ง

ใครที่สนใจซื้อสินค้าจีนราคาถูกมาขาย หรือแม้แต่อยากจะขายสินค้าไทยในตลาดออนไลน์ของจีน น่าจะลองศึกษาช่องทางจากเว็บ Taobao ดูนะครับ

ที่มา China Internet Watch

19 เม.ย. 2554

Renren เข้าตลาดหุ้นที่นิวยอร์ค

Image: coroflot.com

เว็บไซต์ Facebook ของจีนที่ชื่อว่า Renren.com กำลังจะเข้าตลาดหุ้นที่นิวยอร์ค

รายงานข่าวจาก CNN ระบุว่า Renren.com ซึ่งเป็นเว็บ Social network ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ได้ยื่นเอกสารเพื่อขอเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดย Renren มีแผนจะขายหุ้นในราคาหุ้นละ 9 ถึง 11 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ในการเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ Renren อ้างว่าเขาเป็นเว็บไซต์ Social network ชั้นนำด้วยจำนวน Page view จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม และระยะเวลาที่สมาชิกใช้บนเว็บไซต์ โดยอ้างข้อมูลจากบริษัทวิจัย iResearch

รูปแบบเว็บไซต์ของ Renren เป็นทั้งเว็บไซต์เกมส์ออนไลน์ เว็บ Social commerce และ Professional networking service มีจำนวนผู้ใช้งานที่ยืนยันแล้ว ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 เท่ากับ 117 ล้านคน

รายงานข่าวระบุด้วยว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หุ้นบริษัทอินเตอร์เน็ตจีนกำลังร้อนแรงในตลาดหุ้นที่สหรัฐอเมริกา ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หุ้นของ Dangdang (เว็บไซต์ Amazon ของจีน) และ Youku (เว็บไซต์ Youtube ของจีน) ก็เพิ่งเปิดตัวในตลาดหุ้นอเมริกาและได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี

ที่มา CNN Money

15 เม.ย. 2554

จีนเริ่มปราบมือรับจ้างโพสต์ผิดกฎหมาย

image: w.itbyte.net

เว็บไซต์สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักโฆษกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ร่วมกันประกาศมาตรการควบคุมการประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนเมษายนนี้ เป็นเวลา 2 เดือน เป้าหมายคือกลุ่มบุคคลที่เรียกกันว่า 网络水军 (หวั่ง-ลั่ว-สุ่ย-จวิน) หรือมือรับจ้างโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ต ซึ่งทางการมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อสังคม ก่อผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในโลกออนไลน์ 

ตามนิยามในเว็บสารานุกรมของ Baidu ระบุว่า 网络水军 หรือมือรับจ้างโพสต์คือ บุคคลที่บริษัทเอเยนซี่โฆษณาหรือบริษัท PR จ้างให้โพสต์ข้อความเพื่อสร้างกระแสในอินเตอร์เน็ต ซึ่งในแต่ละแคมเปญต้องใช้มือโพสต์เหล่านี้เป็นร้อยเป็นพันคนจึงจะได้ผล มือโพสต์ในจีนมีทั้งที่ทำเป็นอาชีพและทำเป็นงานพาร์ทไทม์

เป็นอาชีพที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันทางการตลาดออนไลน์ ถึงแม้จะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของนักการตลาดในโลกออนไลน์ แต่ก็เป็นดาบสองคม เพราะองค์กรธุรกิจสามารถใช้เครื่องมือนี้ในการโจมตีคู่แข่งได้ หรือสามารถสร้างกระแสต่อสินค้าหรือเว็บไซต์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

และสิ่งที่ทางการจีนเป็นกังวลก็คือ มีมือโพสต์บางส่วนที่รับจ้างองค์กรต่างประเทศโพสต์ข้อความโจมตีรัฐบาลจีน ก่อให้เกิดกระแสความขัดแย้งในหมู่ประชาชน

อาชีพมือรับจ้างโพสต์เป็นอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของนักการตลาดออนไลน์โดยเฉพาะ ทุกครั้งที่มีละครหรือหนังเรื่องใหม่ออกฉายในจีน ก็จะมีนายหน้าออกมาโพสต์ประกาศรับสมัครมือโพสต์ทางอินเตอร์เน็ต เพื่อสร้างกระแสโจมตีหรือชื่นชมหนังหรือละครเรื่องนั้น

หรือบางครั้งก็มีคนประกาศรับจ้างมือโพสต์ด่าหรือชมดารา สนนราคาค่าจ้าง ถ้าเป็นการโพสต์ข้อความด่าธรรมดาจะได้ค่าจ้าง 5 เหมา (ประมาณ 2.50 บาท) แต่ถ้าเขียนโพสต์เป็นบทความที่อ่านแล้วดูดีมีวรรณศิลป์ ก็จะได้ค่าจ้างราว 5 - 10 หยวน (ประมาณ 25 - 50 บาท) โดยมือมืดที่เป็นผู้ว่าจ้างอาจจะเป็นสถานีโทรทัศน์หรือผู้อำนวยการสร้างที่เป็นคู่แข่ง แต่บางครั้งผู้สร้างหนังหรือละครเรื่องนั้นก็เป็นคนจ้างเพื่อสร้างกระแสเองก็มี

จากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมนิดหน่อย ผมพบว่าเคยมีคนตั้งคำถามในเว็บไซต์ประเภท Yahoo Answer ของจีนด้วยว่าอาชีพมือรับจ้างโพสต์นี้มีรายได้เท่าไหร่ มีผู้ตอบว่าเดือนละประมาณ 1500 หยวน (ประมาณ 7,500 บาท) ก็ไม่เลวนะถ้าแค่โพสต์วันละไม่กี่ชั่วโมง มากกว่าเงินเดือนคนงานในโรงงานเครื่องจักรที่ผมเคยทำในสมัยก่อนซะอีก

อาชีพนี้ทำกันอย่างเอิกเกริก มีเว็บไซต์ในจีนที่เปิดขึ้นมาเพื่อรับงานและรับสมัครมือโพสต์โดยเฉพาะหลายแห่ง ผมลอง search ดูยังพบเว็บไซต์ลักษณะนี้ในหน้าแรกของผลการค้นหาสองสามเว็บเลย 

นักวิชาการด้านการประชาสัมพันธ์ออนไลน์ให้ความเห็นว่า ในช่วงหลายปีมานี้กลุ่มแกงค์มาเฟียออนไลน์ได้เติบโตขึ้นมากในอินเตอร์เน็ต การทำผิดกฎหมายในโลกไซเบอร์เพิ่มขึ้นและเปิดเผยมากขึ้น ทำกันเป็นขบวนการ จนกลายเป็นเครือข่ายธุรกิจสีเทาไปแล้ว

ปีที่แล้วเคยมีกรณีบริษัทนมผงแห่งหนึ่งจ้างมือโพสต์โจมตีสินค้านมผงของบริษัทคู่แข่ง แล้วเป็นคดีฟ้องร้อง จนตำรวจจับมือโพสต์ได้ 6 คน และได้รับโทษทางอาญา

อาชีพนี้เคยถูกทำเป็นสกู๊ปข่าวลักษณะเปิดปมในรายการทีวีจีนที่ฮือฮามาแล้วครั้งหนึ่ง และในการประชุมกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมา ก็มีสมาชิกบางคนเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมว่า ควรปรับปรุงกฎหมายเพื่อควบคุมอาชีพรับจ้างโพสต์ได้แล้ว

โลกออนไลน์และการตลาดออนไลน์ในประเทศจีนเขาเล่นกันขนาดนี้แล้วหรือนี่ กองเดิมพันยิ่งสูง เกมก็ยิ่งดุเดือดจริง ๆ

ข้อมูล Internet Solidot

11 เม.ย. 2554

ทำไม Mark Zuckerberg จึงเรียนภาษาจีน?

Image from shwedarling.com

ทีแรกผมไม่คิดว่าแฟนสาวของซัคเคอร์เบิร์กซึ่งเป็นคนอเมริกันเชื้อสายจีนจะเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ผมคิดผิดครับ มีรายงานในเว็บไซต์ aolnews ว่า Priscilla Chan คือผู้จุดประกายให้ซัคเคอร์เบิร์กสนใจประเทศจีน

จากกระแสข่าวที่ลือกันหนาหูว่า Facebook กำลังจะเซ็นสัญญากับหุ้นส่วนที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของจีน เพื่อสร้างเว็บ social network ที่ไม่ถูกบล็อคในจีน ทำให้ผมรู้สึกสนใจว่าซีอีโอหนุ่มเจ้าของเว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกคนนี้คิดอย่างไรกับประเทศจีน

ระหว่างที่แปลบทความเรื่องข่าวลือเกี่ยวกับ Facebook ในจีน ก็บังเอิญได้เห็นบทความอีกชิ้นหนึ่งพูดถึงแนวคิดของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ต่อกลยุทธ์ของ Facebook สำหรับประเทศจีน

บทความนี้ถูกโพสต์ไว้ในบล็อก Tech Crunch ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เป็นการสรุปเนื้อหาของการให้สัมภาษณ์ที่ค่อนข้างยาวครั้งหนึ่งของซัคเคอร์เบิร์ก

สิ่งที่ทำให้ผมสนใจก็คือเรื่องที่เขาพูดเกี่ยวกับประเทศจีน

"จีนเป็นประเทศที่มีความซับซ้อนอย่างมาก" ซัคเคอร์เบิร์กกล่าว

ระหว่างนี้ Facebook กำลังพยายามอย่างมากเพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์ในการเข้าสู่ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกนี้ดำเนินมาถูกทาง เขาหวังว่าหาก Facebook ในฐานะบริษัทจากโลกตะวันตก สามารถประสบความสำเร็จได้ในที่ที่ยังไม่เคยมีบริษัทจากโลกตะวันตกอื่น ๆ เคยทำได้มาก่อน (เช่นรัสเซีย) จะทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นในการเลือกหุ้นส่วนที่เหมาะสมเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในประเทศจีนด้วย

ซัคเคอร์เบิร์กยังบอกด้วยว่าเขาให้ความเคารพต่อค่านิยมในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน Facebook ยอมรับในเรื่องนี้เสมอมา ตัวอย่างเช่น การโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับลัทธินาซีเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศเยอรมัน Facebook จึงบล็อคเนื้อหาดังกล่าวในเยอรมัน แต่ไม่บล็อคในประเทศอื่น ในทำนองเดียวกัน การโพสต์ภาพของนบีมูฮัมหมัดก็เป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศปากีสถาน

ความคิดนี้ของซัคเคอร์เบิร์กนี่เองอาจเป็นที่มาของการวิเคราะห์กันว่า Facebook ในประเทศจีนอาจจะเป็นเวอร์ชั่นที่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาบางส่วนที่ทางการปักกิ่งไม่ปลื้ม

นอกจากนี้ ความสนใจต่อประเทศจีนของสุดยอดซีอีโอหนุ่มคนนี้ยังสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนเมื่อเขาบอกว่าเขาใช้เวลาอย่างมากในการเรียนรู้วัฒนธรรมจีน ถึงขนาดเข้าชั้นเรียนภาษาจีนด้วยตัวเองเลยทีเดียว

"คุณจะเชื่อมโยงคนทั้งโลกเข้าด้วยกันได้อย่างไรหากคุณละทิ้งคนอีก 1,600 ล้านคนไว้ข้างนอก?"

ผมคิดว่าชัดเจนมากสำหรับการให้ความสำคัญต่อตลาดประเทศจีนของ Facebook จึงไม่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดหากเราจะได้เห็นเว็บไซต์ Facebook ในเวอร์ชั่นใหม่ที่เป็นภาษาจีนในอีกไม่นานหลังจากนี้

ข้อมูลจาก Tech Crunch

10 เม.ย. 2554

ลือ Facebook เซ็นสัญญากับ Baidu แล้ว

Image: chinahush.com

เป็นเวลาเกือบสองปีมาแล้วที่ Facebook เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนสมาชิก active users กว่า 590 ล้านคน ถูกบล็อคในประเทศจีน

มีข่าวลือในวงการว่า Facebook ได้เซ็นสัญญากับบริษัท Baidu แล้ว เพื่อร่วมกันสร้างเว็บ social network สำหรับประเทศจีนโดยเฉพาะ

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยแห่งหนึ่งในจีนระบุว่า เว็บ social network ที่จะสร้างขึ้นนี้จะเป็นรูปแบบใหม่ และจะไม่ถูกรวมเข้ากับ Facebook เดิม มีนักสังเกตการณ์บางคนเชื่อว่าหุ้นส่วนของ Facebook ในจีนน่าจะเป็น "Alibaba" "China Mobile" "Sohu" หรือ "Baidu" บริษัทใดบริษัทหนึ่ง

ในเดือนธันวาคมปี 2553 พนักงานของ Baidu ยืนยันว่า Mark Zuckerberg - CEO ของ Facebook ได้แวะมาเยี่ยมสำนักงานใหญ่ของ Baidu ระหว่างการเดินทางไปเยือนประเทศจีนเป็นการส่วนตัว ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2554 ทีมงานของ Baidu ก็ได้บินไปเยือนสำนักงานใหญ่ของ Facebook ที่ Silicon Valley บ้าง

หากทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริง มันอาจหมายถึงกำเนิดของ Facebook ฉบับเซ็นเซอร์ หรืออาจจะเป็นเว็บไซต์ social network อันใหม่เลยก็ได้

ที่มา wwwery.com

9 เม.ย. 2554

Weibo เปลี่ยนโดเมน เตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น

Image: techrice.com

มีข่าวว่าเว็บ Microblog อันดับหนึ่งของจีนที่ชื่อว่า Weibo (เวยป๋อ) กำลังจะเปลี่ยนโดเมนเนมจาก t.sina.com เป็น weibo.com

ผมเคยเขียนถึงเว็บ Weibo ไปแล้วครั้งหนึ่ง พูดถึงที่มาและความสำเร็จของเครือข่ายนี้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เว็บนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า 新浪微博 (ซินลั่งเวยป๋อ) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "เวยป๋อ" ซึ่งแปลตรง ๆ ว่า microblog และมีรูปแบบคล้าย ๆ กับ Twitter

Weibo เป็นบริการที่อยู่ภายใต้ Sina.com เว็บข่าวสารออนไลน์อันดับหนึ่งของจีน จึงใช้ url ที่เป็น subdomain ของ Sina.com มาแต่ต้น

ข่าวการเปลี่ยนโดเมนนี้ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าเป็นการแยกเว็บ Weibo ออกมาจาก Sina.com ก็เพื่อเตรียมตัวนำ Weibo เข้าตลาดหุ้น อันเป็นเป้าหมายระยะยาวของผู้ลงทุนในเว็บสังคมออนไลน์อยู่แล้ว

ในบทความที่ผมนำมาเสนอนี้ Wei Wuhui บล็อกเกอร์ที่เป็นนักวิชาการด้านสื่อแห่งมหาวิทยาลัยชื่อดังในเซี่ยงไฮ้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนโดเมนครั้งนี้ เขากล่าวว่า จริงอยู่ที่ microblog เป็นเรื่องที่ฮ็อตสุด ๆ ในโลกออนไลน์ของจีนขณะนี้ แต่มันจะได้รับความนิยมไปอีกนานเท่าใดไม่มีใครบอกได้ ดังนั้น โดเมน Weibo.com จึงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะกลายเป็นโดเมนเน่าหาก microblog เสื่อมความนิยมลง (weibo ในภาษาจีนแปลว่า microblog) และหากเป็นเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัยสำหรับชื่อโดเมนที่เฉพาะเจาะจงแบบนี้

ตัวอย่างของปัญหาทำนองนี้ก็มีให้เห็นแล้วในกรณีของ blogger.com ซึ่งเมื่อมันเสื่อมความนิยมลงแล้วก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นได้ จนกลายเป็นแค่บริการอย่างหนึ่งในเครือของ Google เท่านั้น ไม่สามารถเป็นเว็บไซต์ที่ทำรายได้ให้แก่ผู้ลงทุนได้

ที่ผ่านมาบริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีนมีแต่นำชื่อเว็บไซต์มาเชื่อมโยงกับบริการเพื่อให้คนจดจำ เช่น 百度一下 (ลองไป่ตู้ดูสิ) ซึ่งหมายถึงว่า ลองค้นหาในไป่ตู้ดูสิ เป็นต้น แต่เรายังไม่เคยเห็นเว็บไซต์ที่นำชื่อบริการมาเป็นชื่อเว็บไซต์แบบที่ Weibo กำลังจะทำนี้เลย

สำหรับโดเมน Weibo.com จะประสบความสำเร็จได้มีอยู่ทางเดียวคือ microblog สามารถเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ได้จริง ซึ่งถ้าทำสำเร็จ Sina ซึ่งเป็นเจ้าของ Weibo ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลใจว่าหาก microblog ล้าสมัยแล้วจะทำอย่างไร แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันยังไม่มีวี่แววแม้แต่น้อยเลยว่ากลุ่มผู้บริหารเว็บ Weibo จะคิดหาโมเดลธุรกิจที่จะสร้างรายได้สำหรับเว็บได้

ตอนนี้รูปแบบของ microblog ยังคงเป็นแค่ชื่อเสียงที่ร่ำลือกันในวงการ แต่ยังไม่มีลู่ทางที่จะหารายได้ได้จริงเลย

คำถามมีอยู่ว่า การเป็นเว็บ microblog ที่ใหญ่ที่สุดของจีนแล้วยังไง หากว่ายังไม่มีโมเดลทางธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ได้จริง และถ้าบังเอิญมีเทรนด์ใหม่อย่างอื่นเกิดขึ้นในวงการอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้ก็จะเฮละโลกันไปเห่อของเล่นใหม่ แล้วจะเอาโดเมน weibo.com ไปทำอะไรได้

ผมคิดว่าการวิเคราะห์ข้างต้นก็เป็นประโยชน์กับผู้ที่คิดจะทำเว็บไซต์ภาษาจีนโดยทั่วไปด้วย เป็นแง่คิดอย่างหนึ่งในการเลือกโดเมนเนมได้ครับ แต่คงจะเหมาะกับการทำเว็บไซต์สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการสร้างแบรนด์ในระยะยาวมากกว่าเว็บไซต์เล็ก ๆ ที่นำเสนอเรื่องที่เฉพาะเจาะจงและหวังผลทางด้าน SEO ในระยะเวลาสั้น ๆ

ที่มา Weiwuhui.com

5 เม.ย. 2554

แอบดูคนจีนทำ SEO - "Thailand Hotel" (3)

นอกจากปัจจัยภายในเว็บไซต์แล้ว อันดับของผลการค้นหาจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเว็บไซต์ด้วย ค่าที่เรามักใช้วัดความสำคัญของเว็บไซต์กันก็คือ PageRank และจำนวน backlink

PageRank (PR) คือค่าที่ Google กำหนดขึ้นเพื่อวัดคุณภาพของเว็บเพจ คล้าย ๆ กับการจัดชั้นยศให้เว็บ มีค่าตั้งแต่ 1 ถึง 10 โดยค่าที่มากกว่าหมายความว่ามีชั้นยศที่สูงกว่า และมีผลให้มีอันดับในผลการค้นหาที่ดีกว่าด้วย ผมเช็คดูแล้ว เว็บ taiguojiudian มีค่า PR เท่ากับ 2 ซึ่งผมถือว่าไม่สูงเท่าไหร่

Backlink คือ link จากเว็บไซต์คนอื่นที่วิ่งเข้ามาที่เว็บไซต์ของเรา เป็นค่าที่ใช้วัดความนิยมของเว็บไซต์ยิ่งมี backlink มากก็แปลว่าเว็บไซต์นั้นได้รับความนิยมสูง และยังมีผลต่อการจัดอันดับในผลการค้นหาด้วย ผมเช็คดูพบว่าเว็บ taiguojiudian มี backlink จำนวน 281 links และเกือบทั้งหมดมาจากเว็บ mynikkibeach.cn ซึ่งเป็นเว็บไซต์ภาษาจีนของโรงแรม Nikki Beach อีกเว็บหนึ่ง เป็นเว็บรวมของโรงแรมในเครือ Nikki Beach ทั้งหมด และเว็บไซต์นี้ก็จัดทำโดยบริษัทเดียวกันกับที่ทำเว็บ taiguojiudian ด้วย

สรุปได้ว่า backlink มีจำนวนไม่มากนัก และสร้างมาจากเว็บของเจ้าของเดียวกัน

จากทั้งหมดที่เราวิเคราะห์กันมา หากเราจะทำเว็บอย่าง taiguojiudian ขึ้นมาสักเว็บนึงก็คงทำได้ไม่ยากนัก แต่ก็สามารถทำให้ติดอยู่หน้าแรกของผลการค้นหาของ Google ภาษาจีน ได้ และทำให้มีอัตราการเข้าชมเว็บไซต์สูงขึ้นอย่างมากตามที่เจ้าของโรงแรมเองบอก

แต่น่าเสียดายที่เว็บนี้ดูเหมือนจะถูกทิ้งไปซะแล้ว เพราะไม่มีการอัพเดทข่าวสารใหม่ ๆ อีกเลยตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมปีที่แล้ว และผมไม่แน่ใจว่าจากรูปแบบที่เป็นแค่บล็อกง่าย ๆ แบบนี้ จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ชมที่สนใจจะจองห้องพักหรือไม่ อาจเป็นได้ว่ามีผู้ชมมากก็จริง แต่ส่วนใหญ่จะเข้ามาดูแล้วจากไป ไม่มีการจองห้องพัก เจ้าของโรงแรมจึงเลิกสนใจเว็บนี้ไปในที่สุด

นอกจากนี้ หากเราทดลองค้นหาด้วย keyword ภาษาจีนคำว่า 泰国酒店 บน Baidu ซึ่งเป็น Search engine อันดับหนึ่งของจีน ปรากฏว่าเว็บ taiguojiudian ไปโผล่อยู่ในหน้าที่ 8 โน่นเลยครับ ดังนั้น คนจีนส่วนใหญ่ที่ใช้ Baidu ค้นหา แทบจะไม่มีโอกาสได้เห็นเว็บนี้เลยด้วยซ้ำ มีเพียงคนส่วนน้อยที่ใช้ Google ภาษาจีนเท่านั้นที่จะหาเว็บนี้พบ แต่แค่ส่วนน้อยก็ทำให้คนเข้าเว็บมากพอจนเจ้าของโรงแรมรู้สึกประทับใจในตอนแรกได้แล้ว

งานนี้ผมไม่รู้ว่าเขาคิดค่าจ้างค่าออนกันเท่าไหร่ ถ้าไม่แพงก็แล้วไป แต่ถ้าแพงแล้วได้แค่นี้ก็น่าผิดหวังจริง ๆ ครับ และไม่รู้ว่าลูกค้ารู้หรือเปล่าว่าคนจีนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ Google !!!

ข้อสังเกตอีกอย่างนึงของผมคือ ผมคิดว่า keyword นี้มันกว้างเกินไป ในความเป็นจริงคนที่กำลังหาข้อมูลโรงแรมในการวางแผนท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะค้นหาด้วยคำที่เฉพาะเจาะจงกว่านั้น เช่น 曼谷酒店 (โรงแรมในกรุงเทพฯ) หรือ 普吉岛酒店 (โรงแรมในภูเก็ต) เป็นต้น และผมคิดว่า keyword ภาษาจีนแบบนี้ยังเป็นนิชที่น่าสนใจ คู่แข่งไม่มากเท่าภาษาอังกฤษ ถ้าจับมาทำมีโอกาสติดในหน้าแรกทั้งของ Baidu และ Google ได้ไม่ยากนัก

ใครที่มีความรู้และเชี่ยวชาญการทำ SEO แนวนี้น่าจะลองศึกษาดูนะครับ

แอบดูคนจีนทำ SEO - "Thailand Hotel" (2)

ตอนนี้เราจะวิเคราะห์เว็บไซต์ภาษาจีนของโรงแรม Nikki Beach ที่ติดหน้าแรกในผลการค้นหาบน Google ภาษาจีนด้วย keyword ภาษาจีน 泰国酒店 กัน เริ่มจากข้อมูลที่เห็นในหน้าผลการค้นหาก่อนเลยดีกว่า


泰国酒店


2010年3月15日 ... 2011 泰国酒店网| Powered by Nikki Beach 中文网. 3 visitors online now 3 guests, 0 members. Max visitors today: 3 at 04:11 am ICT ...
www.taiguojiudian.com/ - 网页快照 - 类似结果


บรรทัดแรกคือ Title เขาเขียนว่า “泰国酒店网” ซึ่งก็คือ keyword บวกคำว่า 网 ที่แปลว่าเว็บ ส่วนใน Description ก็ไม่มีอะไรมาก เป็นข้อมูลวันที่ และสถิติการเข้าชมเว็บ แต่ก็มี keyword บวกคำว่า 网 ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และมีชื่อ Nikki Beach ตามด้วยคำว่า 中文网 ซึ่งหมายถึง เว็บภาษาจีนของ Nikki Beach

จุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งก็คือ ที่อยู่เว็บไซต์หรือ url แทนที่จะเป็น www.nikkibeach.com หรืออะไรที่ใกล้เคียง กลับกลายเป็น www.taiguojiudian.com ซึ่งไม่มีคำว่า Nikki ที่เป็นชื่อของรีสอร์ทอยู่เลย และนี่อาจจะเป็นทีเด็ดของเขาก็ได้ เพราะ taiguojiudian ก็คือการสะกดเสียงอ่านของคำว่า 泰国酒店 ซึ่งเป็น keyword นั่นเอง

ผมก็ไม่รู้ว่า Google สามารถแปล taiguojiudian ออกหรือเปล่า และมีผลต่อการจัดอันดับหรือไม่ แต่ประเด็นก็คือ คำว่า taiguojiudian ในภาษาอังกฤษไม่มีความหมายอะไร แต่สำหรับคนจีน ดูจากคำนี้ใน url กับชื่อที่ Title ที่เป็นภาษาจีนในบรรทัดแรกก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือเว็บไซต์เกี่ยวกับโรงแรมในประเทศไทย

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ลับลวงพรางอยู่เหมือนกัน เพราะดูจากข้อมูลทั้งหมดในผลการค้นหา เราน่าจะคาดหวังว่าเว็บไซต์หน้านี้ควรจะมีข้อมูลเกี่ยวกับโรงแรมต่าง ๆ จำนวนมากในประเทศไทย เพราะหัวข้อมันแปลว่า "โรงแรมในประเทศไทย" แต่พอคลิกเข้าไปดูจริง ๆ กลับกลายเป็นเว็บของโรงแรมที่ชื่อ Nikki Beach โรงแรมเดียว

ทีนี้ลองเข้าไปดูรายละเอียดภายในเว็บไซต์ดูบ้าง (คลิกดูที่นี่)

หน้าตาเว็บไซต์ก็คล้าย ๆ เว็บไซต์โรงแรมทั่วไป หัวข้อตัวใหญ่ที่สุดและอยู่บนสุดของหน้ายังคงเป็น keyword อยู่ มีคำอธิบายข้างใต้หัวข้อว่า "เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Nikki Beach Resort เกาะสมุย" เนื้อหาในหน้าแรกนี้ประกอบด้วยเมนูต่าง ๆ เช่น แนะนำรีสอร์ท แนะนำห้องพัก ห้องอาหาร สโมสร แกลเลอรี่ภาพ จองห้องพัก และแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในเกาะสมุย

การจัดวางหน้าก็เป็นลักษณะบล็อก คือมีส่วนที่เป็นบล็อกโพสต์อยู่ด้านหนึ่ง และมี side bar อยู่ทางขวามือ ผมลองเช็ค source code ดูจึงรู้ว่าเขาใช้ WordPress กับ Template แบบเรียบง่าย และไม่ได้มีการปรับแต่งอะไรมากนัก สังเกตจากองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างยังคงเป็นภาษาอังกฤษอยู่

และที่ด้านล่างของหน้าเว็บ ก่อนจะถึงส่วนที่เป็นสถิติการใช้งาน ก็มีการย้ำ keyword อีกครั้งหนึ่ง ตามด้วยข้อความ Powered by Nikki Beach 中文网 (แปลว่าจัดทำโดยเว็บภาษาจีนของ Nikki Beach)

เท่าที่ดู ผมคิดว่าการปรับแต่งภายใน (on page) ก็ไม่มีอะไรมาก แค่ใส่ keyword ที่ Title และที่ด้านล่างของหน้าเว็บเท่านั้น

ในบทต่อไปเราจะลองตรวจสอบปัจจัยภายนอก (off page) ดูบ้างว่าจะเป็นอย่างไร

อ่านต่อตอนที่ 3 (จบ)

แอบดูคนจีนทำ SEO - "Thailand Hotel" (1)

 
การทำ SEO คือการปรับแต่งเว็บไซต์เพื่อให้ได้อันดับที่ดีในผลการค้นหา สำหรับเว็บไซต์ภาษาจีนน่าจะมีหลักการเหมือน ๆ กับการทำ SEO เว็บไซต์ภาษาอังกฤษ เพียงแต่ควรจะเน้นไปที่ Baidu ซึ่งเป็น search engine อันดับหนึ่งของจีนมากกว่า Google

สองสามวันก่อนผมบังเอิญไปอ่านเจอคำชมจากลูกค้าในเว็บไซต์ของบริษัทจีนแห่งหนึ่ง ซึ่งรับทำเว็บไซต์ภาษาจีนและทำการตลาดออนไลน์ในประเทศจีน สิ่งที่ทำให้ผมสะดุดตาก็คือชื่อของลูกค้าซึ่งเป็นรีสอร์ทแห่งหนึ่งบนเกาะสมุย ผมจำได้ว่าเคยเห็นเว็บไซต์ภาษาจีนของรีสอร์ทแห่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่จำที่อยู่เว็บไซต์ไม่ได้แล้ว

จากนั้นผมก็ค้นหาเว็บไซต์ภาษาจีนของรีสอร์ทแห่งนี้จนพบ และคิดว่าเรื่องทั้งหมดนี้น่าสนใจดี จึงได้รวบรวมมาเล่าสู่กันฟังในบล็อกนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาเรื่องเทคนิคการทำ SEO เว็บไซต์ภาษาจีนเรื่องหนึ่งก็แล้วกัน

ก่อนอื่นเรามาดูกันหน่อยดีกว่าว่าลูกค้าชื่นชมผลงานของบริษัทนี้ว่าอย่างไรบ้าง

“ภายในเวลาไม่เกินสองเดือน คุณได้ทำให้เว็บไซต์ภาษาจีนของรีสอร์ทเปิดใหม่ของเราที่เกาะสมุย ติดอยู่ในหน้าแรกของผลการค้นหาผ่าน Google China ด้วยคำค้นหา “Thailand Hotel” (ภาษาจีน 泰国酒店) ซึ่งเป็น keyword ที่มีการแข่งขันสูงมาก ผลงานของคุณทำให้อัตราการเข้าชมเว็บไซต์ของเราจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นมากทีเดียว" [1]

เป็นคำชื่นชมจาก Mike Penrod เจ้าของรีสอร์ท Nikki Beach เกาะสมุย

ใครที่เคยทำ SEO ในวงการท่องเที่ยวหรือโรงแรมคงรู้ดีว่า keyword แบบนี้มัน "หิน" ขนาดไหน แต่ในกรณีนี้เนื่องจากเป็น keyword ภาษาจีน การแข่งขันยังไม่รุนแรงเท่าภาษาอังกฤษ ระหว่างที่เขียนบทความนี้ผมได้ทดลองทำการค้นหาด้วยคำภาษาอังกฤษและภาษาจีนเปรียบเทียบกัน บนเว็บไซต์ Google ภาษาจีน (http://www.google.com/webhp?hl=zh-CN) ได้ผลดังนี้ครับ

Thailand Hotel” ได้ผลการค้นหาทั้งหมดประมาณ 13,400,000 รายการ
泰国酒店” (แปลตรง ๆ ก็คือ Thailand Hotel) ได้ผลการค้นหาทั้งหมด 3,470,000 รายการ

อย่างไรก็ตาม จากผลการค้นหาในภาษาจีนทั้งหมด 3 ล้านกว่ารายการ จะทำให้เว็บติดอันดับในหน้าแรกนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย* เขาทำได้ยังไง??? เอาไว้ในบทต่อไปเราลองมาทำตัวเป็นนักสืบโคนันแห่งโลก SEO กันหน่อยดีกว่า

อ่านต่อตอนที่ 2 ...


* หมายเหตุ หลังจากโพสต์บทความนี้แล้วนำไปเผยแพร่ใน thaiseoboard.com จึงทราบว่าเกิดความผิดพลาดเรื่องอันดับผลการค้นหา ทีแรกผมเข้าใจผิดว่าเว็บที่เขียนถึงนี้ติดอันดับหนึ่ง แต่จริง ๆ มันมาติดอันดับหนึ่งในหน้าที่ผมทดลองก็เพราะผม login Google account อยู่ และมันจำได้ว่าผมเคยคลิกดูที่เว็บนี้บ่อย ๆ จึงทำให้มันขึ้นไปอยู่ในอันดับหนึ่ง ในขณะที่ถ้าผมไม่ login Google account มันจะไปอยู่ที่อันดับ 8

ผมจึงได้กลับมาแก้ไขบทความนี้เล็กน้อย ขอบคุณ ngokung จาก thaiseoboard ที่ช่วยอธิบายเรื่องผลการค้นหาที่แตกต่างเมื่อ login Google account ครับ

1 เม.ย. 2554

ทำเว็บภาษาจีนต่างจากทำเว็บภาษาอังกฤษอย่างไร

Image: cristyli.blogspot.com

หากคุณเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้วว่าตลาดประเทศจีนนั้นใหญ่โตขนาดไหน มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมหาศาลปานใด และมีมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยผ่านอินเตอร์เน็ตมโหฬารเพียงไร คุณอาจจะเริ่มเห็นแล้วว่าธุรกิจของคุณน่าจะเข้าไปมีเอี่ยวในตลาดที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในโลกออนไลน์กับเขาบ้าง ก้าวแรกของธุรกิจของคุณในตลาดแห่งนี้คือ คุณต้องพูดภาษาเดียวกันกับชาวบ้านในตลาดซะก่อน ซึ่งนั่นก็คือ การมีเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเป็นภาษาจีน

จริงอยู่ที่ว่าคนจีนจำนวนหนึ่งรู้ภาษาอังกฤษ แต่จะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ (ผมเชื่อว่ามีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์) และต่อให้เขารู้ภาษาอังกฤษ คุณคิดว่าเขาอยากจะดูเว็บไซต์ภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนมากกว่ากัน

เอาล่ะ สมมติว่าคุณตัดสินใจแล้วว่าต้องการมีเว็บไซต์ภาษาจีน แล้วยังไงต่อ การทำเว็บไซต์ภาษาจีนมันเหมือนหรือต่างจากการทำเว็บไซต์ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยยังไง

ต่างกันแน่นอน เพราะเว็บไซต์ภาษาจีนเป็นภาษาจีน ส่วนเว็บไซต์ภาษาอังกฤษมันเป็นภาษาอังกฤษน่ะสิ ???!!! --- ขออภัย ผมล้อเล่นน่ะครับ เห็นดินหน้าบ้านมันนุ่มเนียนดีก็เลยอยากทุบเล่นซะงั้น :-p

เอายังงี้ดีกว่า ถ้าคุณไปหาบริษัทหรือ freelance ที่ทำเว็บไซต์ภาษาอังกฤษหรือแม้แต่ภาษาไทยให้คุณ แล้วบอกเขาว่าคุณอยากให้เขาทำเว็บไซต์ภาษาจีนให้ด้วย คุณอาจจะได้คำตอบบางส่วนว่ามันแตกต่างกันอย่างไร แต่ถ้าเขาไม่เคยทำเว็บภาษาจีนมาก่อนเลย ปัญหาบางอย่างอาจถูกมองข้ามไปก็ได้

ผมเองเคยทำบล็อกเล็ก ๆ เป็นภาษาจีนมาก่อน และเคยประสบกับปัญหาในการสร้างเว็บไซต์ภาษาจีนมาบ้าง จึงอยากจะถือโอกาสนี้สรุปเป็นประเด็นเอาไว้ เผื่อจะมีผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง

ผมคิดว่าข้อแตกต่างในการทำเว็บไซต์ภาษาจีนกับการทำเว็บไซต์ภาษาอังกฤษมีดังนี้ครับ 

  • เว็บไซต์ภาษาจีนต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ชมให้ชัดเจนก่อนว่าเป็นคนจีนกลุ่มไหน แผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง จีนโพ้นทะเล หรือทั้งหมด
  • กลุ่มเป้าหมายจะเป็นตัวกำหนดว่าควรจะใช้ภาษาจีนแบบใด ระหว่าง Traditional Chinese กับ Simplified Chinese หรือจะใช้ทั้งสองแบบ
  • กรณีกลุ่มเป้าหมายเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ ควรตรวจสอบเรื่องการบล็อคเว็บไซต์และการบล็อค Web hosting ก่อน และศึกษาวิธีป้องกันไม่ให้เว็บไซต์ถูกบล็อคหลังจากเปิดใช้งานแล้ว
  • การออกแบบเว็บไซต์และการหา keywords ควรคำนึงถึงการทำ SEO สำหรับ Baidu เป็นสำคัญ
  • การกำหนด Character encoding ในภาษา HTML ควรกำหนดเป็น utf-8
  • ควรกำหนดขนาดตัวอักษรให้ใหญ่กว่าภาษาอังกฤษเล็กน้อย เพราะตัวอักษรภาษาจีนมีขีดเยอะ ตัวอักษรเล็กจะอ่านยาก
  • หากใช้ template สำเร็จรูปสำหรับซอฟท์แวร์จำพวก CMS อาจต้องมีการปรับแต่งส่วนประกอบของ template ให้เป็นภาษาจีน รวมทั้งรูปแบบในการแสดงวัน เวลาด้วย
  • ไม่สามารถใช้ Facebook, Twitter, Youtube ในการโปรโมทเว็บไซต์ในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ เพราะเว็บ social network เหล่านี้ถูกบล็อคหมดแล้ว

อืม เท่าที่ผมพอจะนึกได้ก็ประมาณนี้แหละ หากต้องทำจริง ๆ คงมีรายละเอียดปลีกย่อยให้ต้องคิดอีกเยอะ ขึ้นอยู่กับเนื้อหา องค์ประกอบ และขนาดของเว็บไซต์ที่จะทำด้วย

หวังว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการจะมีเว็บไซต์ภาษาจีนไว้เป็นหน้าต่างติดต่อกับชาวจีนในโลกออนไลน์นะครับ