26 ก.พ. 2554

Weibo (เวยป๋อ) microblog ของจีน

ที่มา chinainternetwatch.com โดย Rocky Fu

เมื่อวานนี้ผมเอารถไปเข้าศูนย์เพราะแอร์เสีย ระหว่างที่นั่งรอคิวอยู่ก็ไปหยิบนิตยสาร TIME มาอ่านฆ่าเวลาเล่น ไม่ได้กระแดะอยากอ่านภาษาอังกฤษหรอกนะครับ เพียงแต่มองผ่านไปบนชั้นหนังสือของเขาแล้วไม่เห็นมีอะไรน่าอ่าน เลยหยิบมามั่ว ๆ เพราะใกล้มือและรูปหน้าปกสะดุดตาก็เท่านั้น แต่พอเปิดไปดูหน้าสารบัญเจอสกู๊ปเรื่องการเติบโตของ social media และ microblog ในประเทศจีน อ๊ะ เข้าเรื่องที่ผมกำลังสนใจอยู่พอดี

เนื้อหาโดยย่อก็พูดถึงที่มาของ social media และ microblog ในประเทศจีน ตั้งแต่สมัยที่ facebook และ twitter ยังไม่ถูกบล็อค จนเมื่อโดนบล็อคไปหลังเหตุการณ์จราจลในเมืองอุยกูร์ (Uighur) กลางปี 2009 จึงกลายเป็นช่องว่างให้เกิด microblog ของจีนขึ้น และได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อยู่ภายใต้การเซ็นเซอร์เนื้อหาอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม มันจะเป็นงานที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับรัฐบาลหรือเจ้าของเว็บไซต์เองที่จะควบคุมเนื้อหาบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในยุคที่เป็น Web 2.0 ที่ผู้ใช้มีส่วนในการเผยแพร่เนื้อหาบนเว็บอย่างกว้างขวาง สุดท้ายก็สรุปว่าการเติบโตของ social media ในจีนมีส่วนช่วยในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ผ่านการให้ข้อมูลโดยประชาชนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อ ถือว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของ social media ซึ่งรัฐบาลกลางรู้สึกพอใจ และคงจะปล่อยให้เล่นกันต่อไป ตราบใดที่ชาวเน็ตไม่ไปแตะเรื่องที่ล้ำเส้นอย่าง Falungong หรือ Liu Xiaobo เข้านะครับ 

เราข้ามเรื่องการเมืองในแบบ TIME ไปดีกว่า ผมหยิบเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเขียนก็เพื่อทำความรู้จักกับ microblog ของจีนที่ชื่อว่า Weibo (ภาษาจีนอ่านว่า เวยป๋อ แปลตรง ๆ ว่า microblog เลยครับ) อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่ามันเกิดขึ้นได้เพราะมีช่องว่างหลังจากที่ทั้ง facebook และ twitter โดนบล็อค มันถูกตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม 2009 โดย Sina (มีชื่อในภาษาจีนว่า ซินลั่ง) เว็บท่าชื่อดังของจีน ซึ่งประสบความสำเร็จในฐานะผู้รวบรวมข่าวสารภาษาจีนออนไลน์มาตั้งแต่ยุคแรกของธุรกิจอินเตอร์เน็ตในจีน

ในขณะที่ Baidu ครองตลาด search engine ไปเรียบร้อยแล้ว Sina เองกำลังมองหาช่องทางใหม่ในการขยายธุรกิจของตัวเอง และเมื่อเปิดตัว Weibo ไปได้ไม่นาน มันก็มีบริการที่ล้ำหน้าไปกว่าต้นแบบอย่าง twitter เสียอีก ผู้ใช้สามารถที่จะโพสต์รูปภาพหรือวีดีโอบน Weibo ได้โดยตรง ในขณะที่ twitter ยังต้องอาศัยผู้ให้บริการภายนอกมารองรับเรื่องนี้ นอกจากนี้ Weibo ยังไม่เพียงให้ผู้ใช้สามารถ retweet ข้อความของคนอื่นเท่านั้น แต่ยังสามารถ comment หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมในแต่ละข้อความได้ด้วย

"ในตอนเปิดตัวนั้นมันก็เป็นบริการที่ก้าวหน้าไปกว่า twitter แล้ว คนมักจะคิดว่ามันเหมือนกับ twitter จริงอยู่ที่มันมีหลายอย่างเหมือน twitter แต่ผมคิดว่ามันเป็นส่วนผสมระหว่าง twitter กับบางอย่างใน facebook มากกว่า" CEO ของ Sina ให้สัมภาษณ์กับ TIME อย่างนั้น

ผมเองแทบไม่ค่อยได้ใช้ twitter เท่าไหร่ เพราะเพื่อน ๆ เล่นกันแต่ facebook จึงไม่รู้ว่าที่เขาคุยนั้นจริงหรือเปล่า แต่อ่านจากคำสัมภาษณ์แล้วรู้สึกว่าเขา "มั่น" มากเลยนะครับ

แม้จะให้บริการภายใต้ข้อจำกัดของการเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อให้ทางการจีนเปิดทางให้ แต่ Weibo ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในเวลาอันรวดเร็ว ในเดือนตุลาคมปี 2010 หรือ 14 เดือนหลังการเปิดตัว บริษัท Sina ก็ประกาศว่า Weibo มีจำนวนผู้ใช้ถึง 50 ล้านคนแล้ว แถมยังบอกอีกว่าจะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 10 ล้านคน ยังไม่พอ เขายังประมาณการยอดผู้ใช้ว่าจะถึง 150 ล้านคนภายในปี 2011 นี้ - โอ้ มาย จอร์จ !

ไม่ต้องไปตกตะลึงอึ้งอ้ำอะไรกับเขานักหรอกครับ สำหรับประเทศจีนผมก็เห็นตัวเลขเป็นสิบล้านร้อยล้านเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า microblog เจ้านี้เขาแรงจริง ๆ แม้จะมีคู่แข่งที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วเคลมว่ามียอดผู้ใช้ในระดับที่จะเป็นคู่แข่งกันได้ แต่ Weibo ก็ยังเป็นผู้นำตลาดอยู่อย่างเหนียวแน่น

ถ้าอยากรู้เรื่อง Weibo ของ Sina มากกว่านี้ ก็สามารถไปดาวน์โหลดข้อมูล (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่ chinainternetwatch นะครับ มีข้อมูลละเอียดทีเดียว และผมเชื่อว่าถ้าคุณสนใจการตลาดอินเตอร์เน็ตในจีนล่ะก็ คุณคงต้องเหลียวมอง Weibo เอาไว้บ้างแหละ

ที่มา บางส่วนจากนิตยสาร TIME, Feb 21, 2011 เรื่อง Wired Up และ Chinainternetwatch.com

25 ก.พ. 2554

SEO ในประเทศจีน


สำหรับผู้ดูแลเว็บไซต์โดยทั่วไป ผมคงไม่ต้องอธิบายความอะไรอีกสำหรับคำว่า SEO แต่เนื่องจาก blog นี้ตั้งใจเขียนเพื่อเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการด้วย จึงขออนุญาตพูดถึงนิดเดียวครับ

ตามนิยามของผมเอง SEO หรือ Search Engine Optimization ก็คือการปั้นเว็บไซต์ให้เป็นดาวเด่น เพื่อให้ได้อันดับที่ดีในผลการค้นหานั่นเอง พอเป็นดาวเด่นจนได้อันดับต้น ๆ ในหน้าแสดงผลการค้นหาแล้ว จำนวนผู้ชมเว็บไซต์ก็จะมีตามมาอย่างมากมาย สมมติว่าคุณเป็นเจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งในป่าตอง ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากคนทั่วโลกที่ค้นหาคำว่า "hotel in patong” แล้วเว็บไซต์ของคุณอยู่ในผลการค้นหาอันดับหนึ่งของ Google !!!

หลายปีก่อน สมัยที่ผมเองยังไม่เคยได้ยินคำว่า SEO เหมือนกัน มีเพื่อนฝรั่งคนหนึ่งเขาทำเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์อยู่ เริ่มต้นจากที่ไม่มีใครรู้จักเว็บไซต์ของเขามากนัก เขาก็พยายามทำสิ่งที่เขาเรียกในตอนนั้นว่า "โปรโมท" ด้วยวิธีต่าง ๆ นานา ตามที่เขาขวนขวายเรียนรู้มา ใช้เวลาปั้นอยู่สองถึงสามปี แล้ววันหนึ่งเมื่อเขาค้นหาด้วยคำที่เป็นชื่อสินค้าของเขาใน Google เว็บไซต์ของเขาขึ้นมาอยู่ที่อันดับหนึ่งของผลการค้นหา มันเป็นวันที่เขามีความสุขมาก เขาเล่าให้ผมฟังด้วยหน้าตาที่สุดแสนจะภาคภูมิใจ ตามมาด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ ที่สำคัญ เพื่อนผมคนนี้หาได้เคยร่ำเรียนอะไรทางด้านไอทีมาแม้แต่น้อย แถมเขายังทำทั้งหมดด้วยตัวเองโดยไม่ต้องจ้างใครเลยด้วย ยอดไปเลยใช่มั้ยครับ

กลับมาเข้าเรื่อง SEO ในประเทศจีนกันต่อดีกว่า เรื่องนี้ถ้าจะเขียนให้ครบถ้วนกระบวนความ คงต้องใช้เวลาและเนื้อที่อีกมาก ผมจึงขอพูดถึงภาพรวมทั่ว ๆ ไปก่อน ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ เอาไว้ค่อยว่ากันทีหลัง ตามแต่โอกาสจะอำนวยนะครับ

Search Engine

ในบ้านเรา search engine ที่คนใช้กันมากที่สุดก็คือ Google เหมือน ๆ กับประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ Google ครองตลาดตรงนี้อยู่ แต่ในประเทศจีนไม่เป็นอย่างนั้นครับ อันดับหนึ่งคือ Baidu (ไป่ตู้) ซึ่งมีรายงานล่าสุดว่าในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว มีส่วนแบ่งการตลาดของ search engine ในประเทศจีนถึง 75.5% ดังนั้นการทำ SEO สำหรับกลุ่มเป้าหมายคนจีน (แผ่นดินใหญ่) ก็ต้องเน้นไปที่ Baidu มากกว่า Google ครับ

ภาษาที่ใช้

ในที่นี้เรากำลังพูดถึงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่นะครับ ภาษาที่เขาใช้กันจึงเป็นภาษาจีนกลาง ใช้ตัวอักษรจีนแบบใหม่ หรือ simplified chinese ซึ่งแตกต่างจากตัวอักษรที่ใช้ในไต้หวัน ฮ่องกง หรือมาเก๊า ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ตัวอักษรจีนแบบเก่า หรือ traditional chinese ดังนั้น ถ้าคุณคิดจะทำเว็บไซต์ภาษาจีนให้คนจีนในแผ่นดินใหญ่ดู ควรจะเลือกใช้ภาษาแบบ simplified chinese จะได้ผลดีกว่า แต่ถ้าคุณตั้งใจจะเหมารวมเอาทั้งหมดเลยและคิดว่ามันคุ้มค่ากับการลงทุน ก็อาจจะทำทั้งสองแบบเลยก็ได้ ผมก็เคยเห็นเว็บไซต์ขนาดใหญ่บางแห่งทำทั้งสองเวอร์ชั่นเหมือนกัน

Domain และ Hosting

มีคนแนะนำให้จดโดเมนที่ลงท้ายด้วย .com.cn หรือ .cn และเช่าโฮสต์ในประเทศจีน จะทำให้ได้อันดับในผลการค้นหาดีกว่า นอกจากนี้ การใช้โฮสต์ท้องถิ่นยังทำให้ผู้ชมในจีนโหลดหน้าเว็บของคุณได้เร็วขึ้นด้วย แต่การที่จะใช้บริการจดโดเมนและเช่าโฮสต์ในประเทศจีนนั้นอาจไม่สะดวกนักหากคุณไม่มีคนประสานงานในประเทศจีน และคุณอาจต้องขออนุญาตจดทะเบียนเว็บไซต์ตามข้อบัญญัติของกฎหมายจีนด้วย ซึ่งผมคิดว่าคงจะยุ่งยากกว่าเมืองไทยมากทีเดียว

การฝาก link

คือการสร้าง link จากเว็บอื่นให้เชื่อมต่อมาที่เว็บของเรา ยิ่งทำได้มากก็ยิ่งมีผลดีต่อการจัดอันดับในผลการค้นหา บางคนเรียกงานนี้ว่าเป็นเหมือนยาขมแต่ก็จำเป็นสำหรับการทำ SEO ในกรณีของ Baidu หลายคนพูดตรงกันว่า Baidu ให้ความสำคัญกับจำนวนของ link มากกว่าคุณภาพ ซึ่งต่างกับ Google ที่เน้นคุณภาพมากกว่าจำนวน ดังนั้น คุณคงต้องขยันมากขึ้นในการฝาก link ให้ได้มาก ๆ อย่างน้อยก็ควรจะให้ได้มากเท่า ๆ กับเว็บคู่แข่งล่ะครับ

Social media

อาจจะไม่เกี่ยวกับการทำ SEO โดยตรง แต่หลายคนก็รับรู้ข่าวสารกันมามากแล้วว่า social media อย่าง facebook หรือ twitter นั้นโด่งดังขนาดไหน และเป็นช่องทางใหม่ในการโปรโมทหรือทำการตลาดผ่านอินเตอร์เน็ตที่กำลังมาแรงสุด ๆ น่าเสียดายที่วิทยายุทธ์ในการโปรโมทผ่าน facebook หรือ twitter นั้นใช้ไม่ได้ในประเทศจีน เพราะโดนบล็อคทั้งคู่ และคงจะถูกบล็อคไปอีกนาน

แต่ก็ไม่ถึงกับหมดหวังซะเลยทีเดียว เพราะจีนก็มี social media สัญชาติจีนเองเหมือนกัน และก็กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตของจีนมากขึ้นด้วย คุณอาจจะประยุกต์วิธีการที่คุณใช้ใน facebook, twitter มาใช้กับ social media ของจีนก็ได้

อย่างที่ผมบอกไปในตอนต้นแล้วว่า เรื่องการทำ SEO นั้นเป็นเรื่องยาว มีหัวข้อที่น่าพูดถึงอีกเยอะแยะ ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญนักหรอก อาศัยเรียนรู้จากคนอื่นทั้งนั้น แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมากจริง ๆ สำหรับคนทำเว็บไซต์ เพื่อนฝรั่งที่ผมเพิ่งเล่าให้ฟังไปนั้นเคยบอกผมว่า การสร้างเว็บไซต์ขึ้นมานั้นถือเป็นเพียงงานขั้นแรกที่ง่ายที่สุดของกระบวนการทั้งหมด งานชิ้นโตที่คุณต้องทำหลังจากนั้นสำคัญกว่ามาก นั่นคือทำอย่างไรให้ผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายรู้จักและหาเว็บไซต์ของคุณเจอ ผมคิดว่า SEO นี่แหละคือคำตอบที่ถูกต้องที่สุดครับ

24 ก.พ. 2554

ทำอย่างไรจึงจะถูก "บล็อค"



ตั้งชื่อเรื่องอย่างนี้ฟังดูเหมือนผมจะมาแนะนำให้คุณไปลองของกันอย่างนั้นแหละ เปล่าหรอกครับ ผมตั้งใจจะบอกว่าเมื่อรู้แล้วว่าทำอย่างไรจะถูกบล็อค คุณก็เลี่ยงอย่าไปทำซะ มันก็ไม่ถูกบล็อคแล้ว จริงมั้ยครับ

ขออภัยหากผมเล่นลิ้นวกวนไปบ้าง พอดีนั่งอ่านเรื่องของชาวบ้านเขาโดนบล็อคกันมากมาย หัวสมองก็เลยมึน ๆ จึงเล่นอะไรขำ ๆ นิดหน่อยเท่านั้นเอง

แต่ก็ใช่ว่าเจ้าของเว็บไซต์หรือ blogger ทุกคนจะกลัวโดนบล็อคไปซะหมดนะครับ มีบางคนพอรู้ว่าตัวเองโดนประเทศจีนบล็อคกลับแสดงอาการดีอกดีใจ ประหนึ่งว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของคนอีกจำนวนมากที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน กล้าโพสต์กล้าเขียนในเรื่องที่รัฐบาลจีนไม่ปลื้มอะไรอย่างนั้น สำหรับพวกเรา หมายถึงคนที่ทำเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้คนจีนได้ดูได้เห็น คงไม่มีใครอยากโดนบล็อคกันหรอกนะครับ

นอกจากเว็บไซต์ดัง ๆ ที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาแล้วว่าโดนบล็อคในประเทศจีน เช่น facebook, twitter, wikipedia, blogger, BBC เป็นต้น (อยากรู้ว่ามีเว็บไซต์อะไรที่โดนบล็อคบ้างให้คลิกดูที่นี่ครับ) นอกจากนี้ยังมีเว็บเล็กเว็บน้อยอีกมากมายที่โดนบล็อคเหมือนกัน และส่วนใหญ่ในนั้นก็ไม่ได้โดนบล็อคเพราะมีเนื้อหาไม่เหมาะสมในสายตารัฐบาลจีนแต่อย่างใด เพียงแต่เว็บไซต์นั้นใช้ server หรือ IP address ร่วมกับเว็บไซต์ที่ถูกบล็อค ก็เลยพลอยโดนบล็อคไปด้วย เรียกว่าเว็บเน่าเว็บเดียวโดนบล็อคหมดทั้ง server

อย่างที่ผมเคยเขียนไปแล้วว่ารัฐบาลจีนไม่มีข้อบัญญัติที่ชัดเจนว่าจะบล็อคเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาอะไรบ้าง แต่ถ้าคุณอยากถูกบล็อคล่ะก็ ลองทำสิ่งต่อไปนี้ดูสิครับ

  1. เผยแพร่เนื้อหาที่เป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองของจีน เช่น Tiananmen Square massacre, Tibetan independence, Falungong, Chinese democracy และอีกมากมาย (ดูภาพประกอบด้านบน) ล่าสุดมีรายงานข่าวว่ามีคำที่ถูกเซ็นเซอร์เกิดใหม่จากเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นด้วย เช่น Egypt, Jasmine revolution เป็นต้น ดังนั้น ถ้าอยากถูกบล็อคก็โพสต์คำเหล่านี้ไว้บนเว็บไซต์ของคุณบ่อย ๆ หรือยอมให้คนอื่นเข้ามาโพสต์คำเหล่านี้บนเว็บของคุณก็มีผลเหมือนกัน
  2. เผยแพร่ภาพ วิดีโอ หรือสื่อสำหรับผู้ใหญ่ พูดง่าย ๆ ก็คือ ภาพโป๊นั่นแหละครับ 
  3. ใช้บริการโฮสต์ที่ไม่มีนโยบายห้ามการเผยแพร่รูปโป๊ (adult material) ซึ่งก็หมายความว่าจะมีคนที่ทำเว็บโป๊มาใช้โฮสต์เจ้านี้ ถ้ามีเว็บในโฮสต์นี้โดนบล็อคเมื่อไร และเว็บของคุณอยู่ใน server เดียวกัน คุณก็จะโดนบล็อคไปด้วย

ในกรณีที่คุณยังไม่มีเว็บไซต์และกำลังวางแผนจะสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อเจาะตลาดจีนโดยเฉพาะ คุณคงต้องเลือกโฮสต์ให้ดี อย่างน้อยก็ควรจะเช็คดูก่อนว่าโฮสต์เจ้าที่คุณจะใช้โดนบล็อคอยู่แล้วหรือเปล่านะครับ

23 ก.พ. 2554

เว็บไซต์ของคุณถูก "บล็อค" ในจีนหรือเปล่า


หากคุณมีเว็บไซต์อยู่แล้ว อาจจะเป็นเว็บภาษาอังกฤษ หรือกำลังจะเพิ่มหน้าเว็บภาษาจีนเข้าไป หลังจากได้อ่านบทความก่อนหน้านี้เรื่องเว็บไซต์โดนบล็อคไปแล้ว คุณคงจะอยากรู้ว่าเว็บไซต์ของคุณโดนบล็อคในประเทศจีนหรือเปล่า ยิ่งถ้าคุณกำลังมีแผนจะทำการตลาดสู่ประเทศจีนผ่านเว็บด้วยล่ะก็ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเช็คให้แน่ใจเสียก่อนว่าเว็บที่คุณมีอยู่นั้นไม่โดนบล็อค

เอาล่ะครับ เรามาดูวิธีกัน

วิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการทดสอบเรื่องนี้ก็เหมือนกับที่ผมเล่าไว้ในบทความที่แล้วนั่นแหละ คือการขอให้คนที่อยู่ในประเทศจีนทดลองเข้าเว็บไซต์ของคุณดู แต่สำหรับหลาย ๆ คนอาจไม่มีเพื่อนอยู่ในประเทศจีน ไม่รู้จะไปขอให้ใครช่วยดี ไม่เป็นไรครับ มีคนเจอปัญหาคล้าย ๆ กันแบบนี้เยอะ จึงมีคนสร้างเครื่องไม้เครื่องมือออกมาช่วยแก้ปัญหาเอาไว้แล้ว

ผมค้นไปจนเจอคำแนะนำในบทความภาษาอังกฤษอันนึง และได้ทดลองดูแล้วว่าใช้ได้ หลักการทำงานของเครื่องมือเหล่านี้ก็คือ เขาจะมีคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ในเมืองต่าง ๆ ที่ต้องการทดสอบ เมื่อเราใส่ที่อยู่เว็บไซต์ของเราลงไป คอมพิวเตอร์เหล่านั้นก็จะพยายามติดต่อกับเว็บไซต์ของเราผ่านคำสั่ง ping

อย่าถามผมต่อนะครับว่า ping คืออะไร เอาเป็นว่ามันมีคอมพิวเตอร์หลายเครื่องส่งสัญญาณเข้ามาเพื่อทดสอบว่าสามารถติดต่อกับเว็บไซต์ของเราได้หรือไม่ ถ้าผลการทดสอบออกมาไม่ okay ซึ่งอาจจะเป็น Packets lost หรือ time-out หรือรอนานมากแล้วยังไม่มีผลออกมา แสดงว่าเว็บไซต์ของเราเข้าดูไม่ได้จากเมืองนั้น น่าจะโดนบล็อค ควรทำการทดสอบซ้ำอีกครั้ง ถ้าผลยังออกมาเหมือนเดิม ก็แปลว่าโดน บล็อคแน่นอนครับ

บริการตรวจสอบที่ว่านี้มีหลายแห่ง แต่ที่เขาทดสอบกันมาแล้วว่าได้ผลที่น่าเชื่อถือก็มีอย่างน้อย 3 แห่งต่อไปนี้ครับ

  1. Just Ping วิธีการคือใส่ domain name หรือ ip address ของเว็บไซต์ที่จะทดสอบลงไป แล้วคลิก ping หากผลออกมาเป็น “Checkpoing temporarily not available” แปลว่าคอมพิวเตอร์ของระบบที่ตั้งอยู่ในเมืองนั้นยังไม่พร้อมทำการ ให้ลองทดสอบใหม่อีกครั้งครับ 
  2. Watch Mouse เหมือน ๆ กับ Just Ping ครับ 
  3. Website Pulse อันนี้ผมชอบที่สุด เพราะไม่ต้องดูผลทีละหลายสิบเมือง (ตาลาย) แค่เลือกเมืองใดเมืองหนึ่งในประเทศจีน กับอีกเมืองที่อยู่นอกประเทศจีนไว้เปรียบเทียบ ผลการทดสอบ ดูง่ายสบายตาดี เครื่องมือนี้จะใช้เวลาในการทดสอบนานกว่าสองอันแรกนิดหน่อย เพราะมันไม่ใช่แค่การ ping แต่เป็นการทดลอง download หน้าเว็บทั้งหน้ามาเลย ผลการทดสอบจะแสดงเวลาที่ใช้ในการโหลดหน้าเว็บด้วย 

หลังจากที่รู้จักกับเครื่องมือพวกนี้แล้ว ผมก็ร้อนวิชา หาเว็บไซต์มาทดสอบใหญ่เลย ก็พบว่ามีเว็บไซต์ของภูเก็ตบางแห่งที่โดนบล็อคอยู่ แต่อาจจะไม่มีผลกับธุรกิจของเขาเท่าไหร่ เพราะไม่ได้สนใจกลุ่มลูกค้าในประเทศจีนครับ

ที่มา How to Check If Your Website Is Blocked In China or Not

22 ก.พ. 2554

ประสบการณ์โดน "บล็อค" ของผม


ก่อนหน้าที่ผมจะเริ่มทำเว็บภาษาจีนของตัวเอง ผมเคยได้ยินมาบ้างว่าประเทศจีนมีการบล็อคเว็บไซต์บางแห่ง เช่น facebook, twitter, youtube เป็นต้น แต่ก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์ถูกบล็อคโดยตรง จนเมื่อผมมาลองทำเว็บของตัวเองนั่นแหละ จึงได้รู้ซึ้งว่าเรื่องนี้สำคัญยังไง

ผมเริ่มทำ blog ภาษาจีนครั้งแรกประมาณต้นปี 2553 โดยศึกษาจากหนังสือแนะนำการทำ blog ด้วย WordPress ทีแรกผมใช้โฮสต์ฟรีตามที่หนังสือแนะนำ พอทำเสร็จก็รีบส่งอีเมล์ไปบอกเพื่อนคนจีนที่เซี่ยงไฮ้ กะจะอวดซักหน่อย แต่เพื่อนผมตอบกลับมาว่าเข้าไปดูไม่ได้ อ้าว! ทำไมล่ะ?

ผมนั่งงง ๆ อยู่พักนึง เดาว่าอาจจะเป็นเพราะข้อความแนะนำตัวใน blog มีบางส่วนพูดถึงเหตุการณ์ม็อบเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ แต่คิดไปคิดมาก็ไม่น่าจะใช่ ทางการจีนจะมาเซ็นเซอร์เรื่องม็อบเสื้อแดงทำไมกัน ทีวีช่อง CCTV ของจีนเองยังมีรายงานข่าวอยู่เลย

ผมเข้าไปตั้งคำถามในเว็บบอร์ดภาษาจีนแห่งหนึ่ง เป็นชุมชนของคนใช้ WordPress ในประเทศจีน จึงได้รู้ว่าเว็บของผมโดนบล็อคเป็นที่แน่นอน แต่จะด้วยสาเหตุอะไรไม่อาจบอกได้แน่ชัด บางทีโฮสต์ที่ผมใช้อยู่อาจจะโดนบล็อคทั้งหมดก็ได้ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนทำเว็บในจีน ทางออกที่เขาแนะนำผมก็คือ ย้ายโฮสต์

ในระหว่างนั้น ผมค้น google เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ามีคนที่เจอปัญหาถูกบล็อคในจีนไม่น้อยเหมือนกัน และส่วนใหญ่ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่า ย้ายโฮสต์

ผมอ่านเจอคำถามในข้อมูลที่ค้นมาว่ามี blogger ฝรั่งคนนึง เขาถามว่าเป็นไปได้มั้ยที่จะติดต่อกับหน่วยงานราชการของจีนเพื่อขอทราบเหตุผลที่ถูกบล็อค ปรากฏว่าคนที่เข้ามาตอบคำถามนี้บอกว่าอย่าเสียเวลาดีกว่า เพราะถ้าไปถามราชการจีน เขาจะตอบว่าเขาไม่มีนโยบายในการบล็อคเว็บไซต์ ไม่มีปรากฏในบทบัญญัติข้อไหนเลยในกฎหมายจีนว่ารัฐบาลจะบล็อคเว็บไซต์ของคุณ... ชัดมั้ยครับ

เป็นอันว่าหลังจากอ่านโน่นอ่านนี่สารพัด ผมก็ตัดสินใจทำอย่างที่หลายคนทำมาก่อนหน้านี้ นั่นคือ ย้ายโฮสต์

ผมเริ่มติดตั้ง WordPress ใหม่โดยขอใช้พื้นที่ในโฮสต์ที่เพื่อนผมมีอยู่ เขาเป็น Web designer จึงเช่าโฮสต์ขนาดใหญ่ไว้สำหรับแบ่งไปทำเว็บให้ลูกค้า โฮสต์นี้เป็นของ Hostgator ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีพอสมควร ผมคิดว่ารัฐบาลจีนคงจะไม่บล็อค Hostgator หรอกน่า

ปรากฏว่าผมคิดผิดครับ หลังจากติดตั้ง WordPress อันใหม่เสร็จ ผมส่งอีเมล์ไปหาเพื่อนที่เซี่ยงไฮ้อีกครั้ง เขาตอบว่ายังเข้าไม่ได้เหมือนเดิม อ้าว! ยังไงล่ะทีนี้

ผมชักหงุดหงิด เหมือนโดนตามจองล้างจองผลาญยังไงยังงั้น ไม่รู้จะไปถามเรื่องนี้กับใครได้ ผมเลยกลับไปหา google อีกครั้ง จนไปเจอบทความใน blog อันนึง เขาเล่าว่าเขาก็เคยโดนบล็อคเหมือนกัน และต้องย้ายโฮสต์อยู่หลายครั้ง จนมาเจอกับโฮสต์เจ้านึงที่มีบริการย้ายเว็บไปอยู่อีก server ได้ทันทีในกรณีที่ถูกบล็อค หลังจากย้ายมาอยู่กับโฮสต์เจ้านี้แล้วเขาก็ไม่เจอปัญหากวนใจอีกเลย

ก็ไม่รู้ว่าเป็นแผนการโฆษณาหรือเปล่า แต่ผมก็ส่งอีเมล์ไปถามโฮสต์เจ้านั้นให้แน่ใจว่าเขามีบริการอย่างที่ได้อ่านมาจริง ๆ และเมื่อเขาตอบยืนยันกลับมา ผมก็ตัดสินใจเช่าโฮสต์ที่นี่และเริ่มต้นทำ blog ใหม่เป็นครั้งที่สาม คราวนี้ฉลุยครับ เพื่อนที่เซี่ยงไฮ้ตอบกลับมาว่าเข้าได้แล้ว แถมยังเข้าไปเขียนคอมเมนท์แรกใน blog เป็นประเดิมให้ผมด้วย และตั้งแต่นั้นมา blog นี้ของผมก็ไม่เคยมีปัญหาโดนบล็อคอีกเลย

เรื่องนี้น่าจะจบอยู่แค่นี้ ถ้าผมไม่บังเอิญได้ไปเที่ยวเซี่ยงไฮ้กับครอบครัวและเพื่อน ๆ ในช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว มีเพื่อนที่เป็น Web designer คนนี้ไปด้วย ตอนอยู่ที่เซี่ยงไฮ้เขาลองเข้าเว็บของเขาและของลูกค้าดู พบว่ามีบางเว็บเข้าไม่ได้ แต่บางเว็บเข้าได้ ทั้ง ๆ ที่ใช้โฮสต์ของ Hostgator เหมือนกัน แต่เป็นคนละ server กัน จึงสรุปได้ว่า Hostgator ไม่ได้ถูกบล็อคทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่าเว็บนั้นอยู่ที่ server ตัวไหนด้วยครับ

คราวหน้าผมจะบอกวิธีตรวจสอบว่าเว็บของคุณโดนบล็อคหรือเปล่า