4 มิ.ย. 2554

ขายของปลอมบนอินเตอร์เน็ตในจีน ติดคุก

คดีเชือดไก่ให้ลิงดูนี้เป็นคดีแรกของการขายสินค้าปลอมออนไลน์ ตั้งแต่สำนักงานอุตสาหกรรมและพาณิชย์จีนได้ออกมาตรการปราบปรามการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทั่ว ประเทศในปีที่แล้ว ผลการตัดสินของศาลท้องถิ่นในมณฑลเจียงซูเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา จำเลยถูกจำคุก 5 ปี และปรับ 5 ล้านหยวน

โปรดอ่านต่อที่ Chinese Web info นะครับ

หมายเหตุ

บทความใหม่ที่ผมจะนำมาโพสต์บางส่วนในบล็อกเดิมนี้คงจะสิ้นสุดที่โพสต์นี้แล้วนะครับ ถือว่าเป็นช่วงเวลาหนึ่งเดือนของการโยงไปสู่บล็อกใหม่ จากนี้ไปบทความใหม่จะโพสต์ที่บล็อกใหม่เท่านั้นครับ ขอบคุณที่ติดตาม

2 มิ.ย. 2554

เครือโรงแรมดุสิตรุกตลาดจีน

"ประเทศจีนถือเป็นตลาดที่ใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าพักโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตทั้ง ในประเทศไทย มะนิลา และดูไบ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มตลาดการท่องเที่ยวที่เดินทางเพื่อการประชุมสัมมนาและกลุ่มนัก ท่องเที่ยวที่เดินทางเพื่อการพักผ่อน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 4% จากปีที่ผ่านมา"

เป็นคำกล่าวของ Jennifer Cronin รองประธานฝ่ายขายและการตลาด ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งผมนำมาจากนิตยสาร ไทยแลนด์ Bloomberg Businessweek ฉบับล่าสุด ( พฤษภาคม 2554) ที่เพิ่งซื้อมาจากแผงวันนี้เอง

โปรดติดตามอ่านต่อที่ Chinese Web info นะครับ 

31 พ.ค. 2554

คนไทยขายสินค้าในเว็บ Taobao ได้หรือไม่?

Taobao คือเว็บอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของจีน ซึ่งในปีที่แล้วมีจำนวนผู้ใช้กว่า 370 ล้านคน มีสินค้าประกาศขายในเว็บมากกว่า 800 ล้านรายการ มีการซื้อขายสินค้าบนเว็บเฉลี่ยนาทีละ 48,000 รายการ !!! [1]

หลายคนเห็นตัวเลขแล้วก็อยากจะเข้าไปมีส่วนในการขายสินค้าบนเว็บ Taobao บ้าง แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่า และต้องทำอย่างไร

โปรดอ่านบทความต่อที่ ChineseWeb.info นะครับ

27 พ.ค. 2554

คุกจีนกับการหาเงินออนไลน์เหนือขั้นเทพ

"จีนใช้นักโทษเล่นเกมส์เพื่อหาเงินออนไลน์" เป็นพาดหัวข่าวที่น่าจะอื้อฉาวพอสมควร บนหน้าเว็บไซต์ข่าว guardian.co.uk เมื่อสองวันก่อน (25 พ.ค. 54)

ข่าวนี้รายงานโดยนักข่าวของการ์เดียนในกรุงปักกิ่งที่ชื่อว่า แดนนี่ วินเซ็นท์ โดยอ้างแหล่งข่าวที่ให้สัมภาษณ์ที่ชื่อว่า หลิว ต้าลี่ (ตอนนี้เขาได้เปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่นแล้ว) ซึ่งเคยถูกคุมขังอยู่ในคุกที่เรียกว่า ค่ายคนงานเพื่อการเรียนรู้ใหม่เมืองจีซี ในมณฑลเฮยหลงเจียง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน

โปรดอ่านบทความต่อได้ที่ ChineseWeb.info

25 พ.ค. 2554

ประเทศจีนเป็นโรงงานผลิตเศรษฐีของโลก?

เศรษฐีจีนสมัยนี้ร่ำรวยมั่งคั่งกันเหลือเกิน แถมแสดงออกกันอย่างเต็มที่ ไม่ค่อยเหนียมอายเหมือนเมื่อก่อน ผมรู้สึกอย่างนี้หลังจากได้ฟังข่าวสั้น ๆ ทางทีวีว่า มีการประมูลภาพจิตรกรรมจีนราคาสูงถึง 1,900 ล้านบาท [1]

สิบกว่าปีก่อน สมัยที่ผมทำงานอยู่ในเมืองเน่ยเจียง เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในมณฑลเสฉวน มีโอกาสได้พบกับเศรษฐีภูธรจีนคนหนึ่ง เขาเป็นเจ้าของตึกที่บริษัทที่ผมทำงานไปซื้อหัองพักไว้ เพื่อเป็นที่พักสำหรับพนักงานระดับจัดการจากเมืองไทย

โปรดอ่านต่อที่ ChineseWeb.info นะครับ

23 พ.ค. 2554

Lamborghini เปิดร้านค้าในเว็บ Taobao

Lamborghini แบรนด์รถสปอร์ตหรูเปิดร้านค้าออนไลน์ในเว็บไซต์ Taobao ให้เศรษฐีจีนซื้อรถหรูราคาหลายล้านบนอินเตอร์เน็ต พร้อมรับชำระเงินออนไลน์ผ่านระบบ Alipay เต็มจำนวน ...

โปรดอ่านต่อที่บล็อกใหม่ ChineseWeb.info นะครับ 

22 พ.ค. 2554

วันท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน

วันที่ 19 พฤษภาคมที่เพิ่งผ่านไปนั้นเป็นวันท่องเที่ยวแห่งชาติของจีนครับ เสียดายที่ผมเพิ่งเจอบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไม่ทันที่จะเขียนเรื่องนี้ให้ทันโพสต์ในวันเทศกาล แต่อย่างไรก็ตาม ที่มาที่ไปของวันสำคัญที่กำหนดขึ้นใหม่นี้น่าสนใจมากครับ ถึงแม้ว่าจะช้าไปสองสามวัน ก็ยังไม่น่าจะสายเกินไปที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ


หลังจากผ่านกระบวนการคัดเลือกมาเป็นเวลานานถึงปีกว่า ในที่สุด เมื่อต้นเดือนเมษายนปีนี้เอง สำนักงานการท่องเที่ยวประเทศจีนก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นไป ให้วันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันท่องเที่ยวแห่งประเทศจีน (中国旅游日)

โปรดอ่านต่อที่บล็อก ChineseWeb.info นะครับ

20 พ.ค. 2554

ปัญหาสินค้าปลอมในเว็บประเภท Group buying ในจีน

ปัญหาสินค้าปลอมในอินเตอร์เน็ตถูกเปิดปมอีกครั้งในรายการ ทีวีของจีน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง ทางช่อง CCTV ได้เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับสินค้าปลอมในเว็บไซต์ประเภท Group buying หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือเว็บแบบ Groupon นั่นเอง

โปรดอ่านต่อที่ ChineseWeb.info

17 พ.ค. 2554

เว็บอเมซอนกับกรณียาปลุกนกเขาในจีน

เว็บอเมซอนเวอร์ชั่นภาษาจีนถูกสำนักงานอาหารและยาประเทศจีนประกาศว่าเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่มีการขายยาปลอม


มีรายงานในเว็บไซต์ข่าวภาษาจีน NBD.com.cn ว่า สำนักงานอาหารและยาของจีนได้ประกาศ "รายชื่อเว็บไซต์ที่ตรวจพบว่ามีการขายผลิตภัณฑ์ยาปลอม" โดยหนึ่งในเว็บไซต์ที่ถูกประกาศชื่อเป็นเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ชื่อดัง คือ amazon.com.cn หรือ 卓越亚马逊

มีเว็บไซต์ที่ถูกประกาศชื่อในครั้งนี้ทั้งหมด 9 เว็บไซต์ และสินค้าที่มีปัญหาล้วนเป็นสินค้าประเภท "ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชาย" ทั้งสิ้น ...

โปรดอ่านต่อที่ ChineseWeb.info ครับ

15 พ.ค. 2554

แปลเว็บไซต์เป็นภาษาจีน ต้องแปลทั้งเว็บเลยหรือเปล่า?

เป็นคำถามคำตอบอยู่ในหน้าคำถามที่พบบ่อยของเว็บที่ให้บริการทำเว็บภาษาจีนแห่งหนึ่งในอังกฤษ (mways) และเป็นคำถามที่ผมเคยถามตัวเองเหมือนกัน คำตอบของเขากับของผมก็ไม่ต่างกันครับ

ไม่จำเป็นครับ หากคุณไม่ได้คาดหวังให้ผู้ชมชาวจีนต้องอ่านเนื้อหาทุกหน้าบนเว็บไซต์ เพียงเลือกเฉพาะบางหน้าที่มีเนื้อหาที่คุณต้องการสื่อสารกับผู้ชมชาวจีนก็พอ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและเป้าหมายในการทำเว็บไซต์เวอร์ชั่นภาษาจีนของคุณเองครับ ...

โปรดอ่านต่อที่นี่ครับ

14 พ.ค. 2554

ตลาดเว็บจองโรงแรมในจีนกำลังจะเปลี่ยนไป

เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา เว็บ Ctrip (携程网) เพิ่งประกาศเปิดตัวเว็บน้องใหม่ในเครือที่ชื่อว่า Lvping.com หรือ 驴评网 ซึ่งจะเป็นเว็บรูปแบบเดียวกับ Tripadvisor และเป็นความหวังของ Ctrip ที่จะรักษาความเป็นผู้นำในตลาดจองโรงแรมออนไลน์ในประเทศจีนเอาไว้ต่อไป

โปรดอ่านต่อที่นี่ครับ

12 พ.ค. 2554

กางเกงมวยไทยในเว็บวัสดุก่อสร้างจีน???

วันนี้ผมลองค้นหาดูว่ามีสินค้าไทยอะไรบ้างที่เข้าไปขายอยู่ในประเทศจีน ก็ใช้วิธีค้นหาผ่านกูเกิ้ลธรรมดานี่แหละครับ ไล่ดูไปเรื่อย ๆ จนไปเจออันนึงประกาศขายกางเกงมวยไทย แต่ที่มันแปลกก็คือ เว็บไซต์ที่ประกาศขายนี้ชื่อว่า Building Materials - china
ผมสงสัยว่ามันเกี่ยวกันยังไงจึงคลิกเข้าไปดูซะหน่อย ก็มีจริง ๆ ครับ ประกาศขายกางเกงมวยไทยในเว็บไซต์ B2B สำหรับสินค้าวัสดุก่อสร้างในจีน

ผมลองอ่านในหน้า About Us ของเว็บไซต์นี้ดู เขาก็บอกว่าเว็บเขาเป็นเว็บไซต์ B2B e-marketplace ที่ผู้ซื้อและผู้ขายที่เป็นองค์กรธุรกิจสามารถติดต่อซื้อขายกันได้ แต่ชื่อเว็บไซต์และ Url มันบ่งบอกชัดเจนว่าเป็นกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้างของประเทศจีน แล้วกางเกงชกมวยเข้าไปอยู่ในนั้นได้ยังไง?

โปรดอ่านต่อที่นี่

10 พ.ค. 2554

ซีอีโอ Sohu ชี้ฟองสบู่ดอทคอมรอบใหม่จะแตกภายในสองปี

จางฉาวหยาง หรือ Charles Zhang (张朝阳) ซีอีโอของบริษัท Sohu (搜狐) เจ้าของเว็บไซต์ Sohu.com ซึ่งเป็นเว็บท่าระดับแนวหน้าของจีน ให้สัมภาษณ์ระหว่างเตรียมตัวทำกิจกรรมปีนเขาเพื่อโปรโมทเครือข่าย micro blog ของ Sohu ว่าธุรกิจอินเตอร์เน็ตจีนกำลังเกิดฟองสบู่ และเขาคิดว่ามันคงจะแตกภายในสองปีนี้


จากปรากฏการณ์ที่ธุรกิจอินเตอร์เน็ตจีนพากันแต่งตัวเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นใน อเมริกาจนกลายเป็นกระแสหลักอยู่ในขณะนี้นั้น จางฉาวหยางให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่ามันคือภาวะฟองสบู่ ...

โปรดอ่านต่อในบล็อกใหม่ Chineseweb.info ครับ

8 พ.ค. 2554

E-commerce ดันยอด EMS จีนทะลุ 6 พันล้านหยวนต่อเดือน

ไปรษณีย์จีนแถลงว่ายอดการส่ง EMS ทะลุ 6 พันล้านหยวนแล้ว เป็นผลมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของการช้อปปิ้งออนไลน์

เมื่อวานนี้ องค์การไปรษณีย์จีนแถลงผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปีนี้ ระบุว่าบริการ EMS มียอดใช้บริการพุ่งสูงขึ้นมาก โดยมียอดค่าบริการในหนึ่งเดือนมากกว่า 6 พันล้านหยวนแล้ว (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) ...

อ่านต่อที่นี่ ChineseWeb.info นะครับ

Web hosting สำหรับเว็บไซต์ภาษาจีน

ผมนั่งค้นหาข้อมูลเรื่องนี้ในอินเตอร์เน็ตเป็นเวลานาน ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ มีการตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนความเห็นกันในประเด็นนี้มากมาย มากจนผมอ่านแล้วรู้สึกเบลอ ๆ หาข้อสรุปอะไรไม่ค่อยจะได้

โอเคล่ะครับ ผมจะพยายามสรุปประเด็นให้ชัดเจนและเข้าใจง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้

ก่อนอื่นขออธิบายความหมายของคำว่า Web hosting สำหรับบางท่านที่ไม่คุ้นเคยกับการทำเว็บสักนิดนึงนะครับ คำนิยามสั้น ๆ ง่าย ๆ ตามความเข้าใจของผมก็คือ ห้องหรือบ้านสำหรับเก็บส่วนประกอบของเว็บไซต์นั่นแหละครับ มันเป็นที่สำหรับเก็บไฟล์ต่าง ๆ ของเว็บไซต์เอาไว้ เมื่อมีการขอดูเว็บไซต์นั้นผ่านทางโปรแกรมเบราเซอร์ (IE, Firefox, Chrome เป็นต้น) ไฟล์พวกนี้ก็จะถูกเรียกไปประกอบตัวกันเพื่อแสดงออกมาเป็นหน้าตาเว็บเพจอย่าง ที่เราเห็นในจอคอมพิวเตอร์ ...

อ่านต่อที่นี่

5 พ.ค. 2554

เว็บภาษาจีนของการท่องเที่ยวไทยกับมาเลเซีย


"มีการคาดการณ์กันว่าในปีนี้จะมีคนจีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ 65 ล้านเที่ยว หลังทำสถิติสูงกว่า 57 ล้านเที่ยวในปี 2553 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ องค์การการเดินทางโลกของสหประชาชาติ (UN World Travel Organization) ได้ประมาณการเอาไว้ด้วยว่า ภายในปี 2020 จะมีคนจีนเดินทางไปต่างประเทศถึง 100 ล้านเที่ยว" เป็นรายงานจากเว็บไซต์ข่าว CNBC เมื่อสองวันก่อน
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกกำลังตื่นตัวและกระตือรือร้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในส่วนแบ่งทางการตลาดอันมหึมาที่กำลังโตวันโตคืนนี้กันเป็นอันมาก  
จากกระแสข่าวดังกล่าว วันนี้ผมเกิดนึกสนุกอยากจะนำเว็บไซต์ภาษาจีนของการท่องเที่ยวของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมาเปรียบเทียบกันดูสักหน่อย เผื่อจะมีประเด็นน่าสนใจสำหรับคนที่กำลังคิดจะทำเว็บไซต์ภาษาจีนบ้างนะครับ  
ผมเลือกประเทศมาเลเซียเป็นคู่เปรียบเทียบกับไทย เพราะเข้าใจว่าน่าจะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกันดี และโชคดีที่ทั้งสองประเทศนี้ก็มีเว็บไซต์ภาษาจีนอย่างเป็นทางการของสำนักงานการท่องเที่ยวของตัวเองทั้งคู่ จึงสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ครับ ... ...
โปรดอ่านต่อในบล็อกใหม่ Chinese Web info นะครับ 

2 พ.ค. 2554

ปัญหาสินค้าปลอมในร้านค้าออนไลน์จีน

เว็บไซต์ Taobao (เถาเป่า) เป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ที่ใหญ่ที่สุดของจีน กำลังเจอปัญหาพวกขายสินค้าปลอมมาเปิดร้านค้าในเว็บจำนวนมาก

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีรายงานเป็นสกู๊ปข่าวทางช่อง CCTV ของจีน เกี่ยวกับสินค้าปลอมในเว็บ Taobao โดยระบุว่ามีการทำกันเป็นขบวนการและทำเป็นอาชีพ จะเรืยกว่าเป็นพวกมิจฉาชีพก็ได้...

อ่านต่อได้ที่บล็อกใหม่ Chinese Web info นะครับ 

27 เม.ย. 2554

Ctrip เว็บไซต์เพื่อการเดินทางอันดับหนึ่งของจีน

ผมได้ยินชื่อเว็บไซต์ Ctrip ครั้งแรกจากรุ่นพี่คนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในประเทศจีน เขาต้องเดินทางไปตามเมืองต่าง ๆ ของจีนเพื่อเปิดตลาดสินค้าใหม่ เขาบอกผมในตอนนั้นว่าเว็บไซต์นี้ทำให้ชีวิตเขาสะดวกขึ้นมาก ไม่ต้องให้คนจีนช่วยติดต่อจองตั๋วเดินทางและโรงแรมอีกเลย สามารถทำเองได้หมดบนเว็บไซต์ซึ่งมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษด้วย

ผมก็เห็นชื่อเว็บไซต์นี้มาเรื่อย ๆ จากการหาข้อมูลนำมาเขียนลงในบล็อกภาษาจีนของผมเกี่ยวกับการเดินทางมาเที่ยวภูเก็ตของคนจีน และเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็ได้เห็นข้อมูลจากเว็บไซต์ China Internet Watch ว่า เว็บไซต์นี้เป็นเจ้าตลาดด้าน Online travel ในประเทศจีนอยู่

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมสนใจอยากรู้เกี่ยวกับเว็บไซต์นี้มากขึ้น จึงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและนำมาเสนอท่านผู้อ่านในบล็อกนี้

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Wikipedia ภาษาอังกฤษระบุว่า Ctrip (ภาษาจีนเรียกว่า 携程 - อ่านว่า "เสียเฉิง") เป็นเว็บไซต์เพื่อการเดินทาง โดยรูปแบบธุรกิจเป็นเอเยนต์รับจองตั๋วเดินทางและท่องเที่ยวต่าง ๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ที่เว็บไซต์หลักคือ www.ctrip.com

เป็นอีกหนึ่งบริษัทอินเตอร์เน็ตของจีนที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่อเมริกา โดยเข้าตลาดหุ้น NASDAQ ในปี ค.ศ. 2003 หลังการก่อตั้งบริษัทที่เซี่ยงไฮ้ในปี 1999

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Ctrip ภาษาจีนเองทำให้ผมรู้สึกว่าบริษัทนี้ไม่ใช่บริษัทเล็ก ๆ เลย ด้วยจำนวนพนักงานกว่า 12,000 คน มีสำนักงานสาขาอยู่ในเมืองต่าง ๆ ของประเทศจีน 16 สาขา และในปี 2010 ที่ผ่านมายังได้เข้าไปซื้อหุ้นในบริษัททัวร์รายใหญ่ในไต้หวันและฮ่องกงด้วย

เว็บไซต์ Ctrip มีสมาชิกมากกว่า 50 ล้านคน ให้บริการจองโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน แพ็คเกจท่องเที่ยว การเดินทางเพื่อธุรกิจ เป็นต้น

ตัวเลขล่าสุดจากบริษัทวิจัย iResearch ในจีนระบุว่า ในไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้ Ctrip มีส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีน 47% ยังคงเป็นอันดับหนึ่ง ทิ้งห่างอันดับรอง ๆ อย่างไม่เห็นฝุ่น


ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไทยที่สนใจตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังบูมอยู่ในขณะนี้ก็คือ บนเว็บไซต์ Ctrip มีบริการรับจองโรงแรมและแพ็คเกจท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ผมเห็นโรงแรมจำนวนมากอยู่ในลิสต์บนเว็บไซต์นี้ด้วย เฉพาะโรงแรมในภูเก็ตที่ผมลองเช็คดู พบว่ามีมากกว่า 150 โรงแรมแล้ว

ผลการค้นหาโรงแรมในภูเก็ตบนเว็บ Ctrip ภาษาจีน

ผมคิดว่าผู้ประกอบการโรงแรมที่สนใจลูกค้ากลุ่มจีน ควรเข้าไปดูแลปรับปรุงข้อมูลของโรงแรมในเว็บนี้ให้ถูกต้องและครบถ้วนเสมอ คล้าย ๆ กับที่ท่านทำบนเว็บไซต์ Tripadvisor นั่นแหละครับ แต่หากโรงแรมของท่านยังไม่ได้อยู่ในลิสต์ของเว็บไซต์ Ctrip ก็น่าจะหาวิธีเพิ่มข้อมูลเข้าไปนะครับ อย่างน้อยก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่อาจจะนำลูกค้านักท่องเที่ยวจีนมาใช้บริการที่โรงแรมของท่านบ้างก็ได้

23 เม.ย. 2554

พิมพ์ภาษาจีนบน Google Translate ก็ได้ด้วย


วันนี้ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เห็นเครื่องมือเล็ก ๆ อันนึงบนหน้าเว็บไซต์ Google Translate มันคือโปรแกรมเล็ก ๆ ที่ใช้พิมพ์ภาษาจีนบนหน้าจอได้ เป็นตัวช่วยที่มีประโยชน์มากทีเดียว โดยเฉพาะเวลาที่ผมจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ของคนอื่นที่ไม่ได้ติดตั้งโปรแกรมพิมพ์ภาษาจีนเอาไว้

ผมพยายามค้นหาข้อมูลว่าเครื่องมือพิมพ์ภาษาจีนนี้มีที่มาอย่างไร เริ่มพัฒนาและเปิดให้ใช้เมื่อไร แต่ก็ไม่พบข้อมูลอย่างเป็นทางการจาก Google เลย ทำเหมือนเปิดให้ใช้แบบเงียบ ๆ ไม่กระโตกกระตาก แต่ของเค้าดีจริง ๆ ผมทดลองใช้ดูแล้ว ราบรื่นดีครับ

จากข้อมูลเท่าที่ผมพอจะหาได้ พบว่า Google ได้เปิดให้ใช้เครื่องมือนี้มาแล้วตั้งแต่ต้นปี แต่ก็ถูกปิดไปชั่วคราวในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้ใช้เข้าไปโพสต์ตั้งคำถามไว้ใน Google Translate Discussion Group ว่าใช้ไม่ได้แล้ว และมีเจ้าหน้าที่จาก Google มาตอบว่าที่ต้องปิดไปเพราะมีข้อบกพร่องในโปรแกรม (bugs) แต่จะทำการแก้ไขและเปิดให้ใช้ได้ใหม่ในเร็ววัน

และตอนนี้มันก็เปิดให้ใช้แล้ว แต่เสียดายที่ไม่มีการแจ้งหรือประกาศใด ๆ บนบล็อกของ Google Translate เลย คงจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศให้มากเรื่อง

อันที่จริงเครื่องมือพิมพ์ภาษาต่างประเทศได้มีการพัฒนาโดย Google มานานแล้ว แต่อยู่ในหน้าเว็บอีกหน้าหนึ่งที่เรียกว่า Google Transliteration ซึ่งสามารถเลือกพิมพ์ภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา รวมทั้งภาษาจีนด้วย แต่การเอาเครื่องมือนี้ไปแปะไว้ที่หน้าเว็บแปลภาษาของ Google น่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่ต้องการหาคำแปลของภาษาจีนบางคำขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน ก็กดเลือก Allow phonetic typing ใต้ช่องใส่คำที่จะแปลได้เลย

สำหรับท่านที่เคยเรียนภาษาจีนในระบบพินอิน (Pinyin) มาแล้ว แต่ยังไม่มีระบบพิมพ์ภาษาจีนในคอมพิวเตอร์ อาจเป็นเพราะไม่รู้ว่าจะติดตั้งอย่างไร ก็อาจจะใช้เครื่องมือพิมพ์ภาษาจีนในหน้า Google Translate แทนไปก่อนก็ได้ ถ้าไม่ได้ใช้พิมพ์เอกสารยาว ๆ เป็นหน้า ๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ผมขอแนะนำวิธีใช้สั้น ๆ ก็แล้วกัน เผื่อสำหรับผู้ที่เพิ่งเรียนภาษาจีนมาบ้าง แต่ยังไม่เคยพิมพ์ภาษาจีนบนคอมพิวเตอร์นะครับ
  1. เข้าไปที่เว็บ Google Translate (http://translate.google.com/)
  2. เลือกภาษาที่จะแปลตรงหลังคำว่า From เป็น Chinese แล้วจะสังเกตเห็นว่า URL จะเปลี่ยนเป็นคล้าย ๆ แบบนี้ - http://translate.google.com/#zh-CN|en| 
  3. ติ๊กถูกตรงช่องหน้าคำว่า Allow phonetic typing 
  4. พิมพ์คำภาษาจีนเป็น Pinyin โดยไม่จำเป็นต้องใส่เสียงวรรณยุกต์ เช่น nihao ก็จะปรากฏคำในภาษาจีนที่อ่านว่า nihao มาให้เลือก โดยโปรแกรมจะเลือกคำที่ใช้บ่อยมาไว้ในอันดับต้น ๆ 
  5. เลือกคำที่ต้องการใช้ โดยการกดปุ่มตัวเลขบนคีย์บอร์ด ถ้าเป็นเบอร์ 1 จะกดแป้น space bar แทนก็ได้ 
  6. ถ้าตัวเลือกในชุดแรก (มี 5 ตัวเลือก) ไม่มีคำที่ต้องการ ให้คลิกที่ลูกศรชี้ลงหรือกดปุ่ม Page down บนคีย์บอร์ดเพื่อดูตัวเลือกชุดถัดไป 
  7. เมื่อเลือกตัวเลือกของคำที่ต้องการแล้ว คำภาษาจีนคำนั้นจะไปปรากฏอยู่ในช่องคำที่จะแปล และโปรแกรมก็จะทำการแปลทันที
เราสามารถ Copy คำจีนที่ได้จากหน้านี้ไป Paste ที่อื่นได้ด้วย เช่น เอาไปแปะในข้อความอีเมล์ที่จะส่งไปจีบหนุ่มหรือจีบสาวจีน เป็นต้น

20 เม.ย. 2554

ตลาดสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน


การช้อปปิ้งออนไลน์เป็นแนวโน้มที่จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศจีน สื่อที่ติดตามวงการอินเตอร์เน็ตของจีนจึงต้องติดตามเรื่องนี้ด้วย ในวันสงกรานต์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ China Internet Watch ได้แสดงชาร์ทที่มาจากบริษัทวิจัย iResearch ด้วยหัวข้อว่า Top 10 ร้านค้าปลีกออนไลน์ในประเทศจีน

จากชาร์ทที่นำมาแสดง จะเห็นได้ว่าในปี 2553 เว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ที่มียอดซื้อขายมากที่สุดนำโด่งอยู่เจ้าเดียวเลยก็คือ Taobao.com มีมูลค่าการซื้อขายตลอดทั้งปีเท่ากับ 30,000 ล้านหยวน (ประมาณ 150,000 ล้านบาท)

สองสามวันก่อนก็มีเพื่อนผมโทรมาถามเกี่ยวกับการซื้อสินค้าในเว็บ Taobao (เถาเป่า) ของจีน ซึ่งมีสินค้ามากมายให้เลือกซื้อ น่าจะเป็นแหล่งซื้อสินค้าเข้ามาขายในเมืองไทยได้อีกทางหนึ่ง

ใครที่สนใจซื้อสินค้าจีนราคาถูกมาขาย หรือแม้แต่อยากจะขายสินค้าไทยในตลาดออนไลน์ของจีน น่าจะลองศึกษาช่องทางจากเว็บ Taobao ดูนะครับ

ที่มา China Internet Watch

19 เม.ย. 2554

Renren เข้าตลาดหุ้นที่นิวยอร์ค

Image: coroflot.com

เว็บไซต์ Facebook ของจีนที่ชื่อว่า Renren.com กำลังจะเข้าตลาดหุ้นที่นิวยอร์ค

รายงานข่าวจาก CNN ระบุว่า Renren.com ซึ่งเป็นเว็บ Social network ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ได้ยื่นเอกสารเพื่อขอเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดย Renren มีแผนจะขายหุ้นในราคาหุ้นละ 9 ถึง 11 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ในการเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ Renren อ้างว่าเขาเป็นเว็บไซต์ Social network ชั้นนำด้วยจำนวน Page view จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม และระยะเวลาที่สมาชิกใช้บนเว็บไซต์ โดยอ้างข้อมูลจากบริษัทวิจัย iResearch

รูปแบบเว็บไซต์ของ Renren เป็นทั้งเว็บไซต์เกมส์ออนไลน์ เว็บ Social commerce และ Professional networking service มีจำนวนผู้ใช้งานที่ยืนยันแล้ว ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 เท่ากับ 117 ล้านคน

รายงานข่าวระบุด้วยว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หุ้นบริษัทอินเตอร์เน็ตจีนกำลังร้อนแรงในตลาดหุ้นที่สหรัฐอเมริกา ย้อนกลับไปในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หุ้นของ Dangdang (เว็บไซต์ Amazon ของจีน) และ Youku (เว็บไซต์ Youtube ของจีน) ก็เพิ่งเปิดตัวในตลาดหุ้นอเมริกาและได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี

ที่มา CNN Money

15 เม.ย. 2554

จีนเริ่มปราบมือรับจ้างโพสต์ผิดกฎหมาย

image: w.itbyte.net

เว็บไซต์สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า สำนักโฆษกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ร่วมกันประกาศมาตรการควบคุมการประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนเมษายนนี้ เป็นเวลา 2 เดือน เป้าหมายคือกลุ่มบุคคลที่เรียกกันว่า 网络水军 (หวั่ง-ลั่ว-สุ่ย-จวิน) หรือมือรับจ้างโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ต ซึ่งทางการมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อสังคม ก่อผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในโลกออนไลน์ 

ตามนิยามในเว็บสารานุกรมของ Baidu ระบุว่า 网络水军 หรือมือรับจ้างโพสต์คือ บุคคลที่บริษัทเอเยนซี่โฆษณาหรือบริษัท PR จ้างให้โพสต์ข้อความเพื่อสร้างกระแสในอินเตอร์เน็ต ซึ่งในแต่ละแคมเปญต้องใช้มือโพสต์เหล่านี้เป็นร้อยเป็นพันคนจึงจะได้ผล มือโพสต์ในจีนมีทั้งที่ทำเป็นอาชีพและทำเป็นงานพาร์ทไทม์

เป็นอาชีพที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันทางการตลาดออนไลน์ ถึงแม้จะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของนักการตลาดในโลกออนไลน์ แต่ก็เป็นดาบสองคม เพราะองค์กรธุรกิจสามารถใช้เครื่องมือนี้ในการโจมตีคู่แข่งได้ หรือสามารถสร้างกระแสต่อสินค้าหรือเว็บไซต์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

และสิ่งที่ทางการจีนเป็นกังวลก็คือ มีมือโพสต์บางส่วนที่รับจ้างองค์กรต่างประเทศโพสต์ข้อความโจมตีรัฐบาลจีน ก่อให้เกิดกระแสความขัดแย้งในหมู่ประชาชน

อาชีพมือรับจ้างโพสต์เป็นอาชีพใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของนักการตลาดออนไลน์โดยเฉพาะ ทุกครั้งที่มีละครหรือหนังเรื่องใหม่ออกฉายในจีน ก็จะมีนายหน้าออกมาโพสต์ประกาศรับสมัครมือโพสต์ทางอินเตอร์เน็ต เพื่อสร้างกระแสโจมตีหรือชื่นชมหนังหรือละครเรื่องนั้น

หรือบางครั้งก็มีคนประกาศรับจ้างมือโพสต์ด่าหรือชมดารา สนนราคาค่าจ้าง ถ้าเป็นการโพสต์ข้อความด่าธรรมดาจะได้ค่าจ้าง 5 เหมา (ประมาณ 2.50 บาท) แต่ถ้าเขียนโพสต์เป็นบทความที่อ่านแล้วดูดีมีวรรณศิลป์ ก็จะได้ค่าจ้างราว 5 - 10 หยวน (ประมาณ 25 - 50 บาท) โดยมือมืดที่เป็นผู้ว่าจ้างอาจจะเป็นสถานีโทรทัศน์หรือผู้อำนวยการสร้างที่เป็นคู่แข่ง แต่บางครั้งผู้สร้างหนังหรือละครเรื่องนั้นก็เป็นคนจ้างเพื่อสร้างกระแสเองก็มี

จากการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมนิดหน่อย ผมพบว่าเคยมีคนตั้งคำถามในเว็บไซต์ประเภท Yahoo Answer ของจีนด้วยว่าอาชีพมือรับจ้างโพสต์นี้มีรายได้เท่าไหร่ มีผู้ตอบว่าเดือนละประมาณ 1500 หยวน (ประมาณ 7,500 บาท) ก็ไม่เลวนะถ้าแค่โพสต์วันละไม่กี่ชั่วโมง มากกว่าเงินเดือนคนงานในโรงงานเครื่องจักรที่ผมเคยทำในสมัยก่อนซะอีก

อาชีพนี้ทำกันอย่างเอิกเกริก มีเว็บไซต์ในจีนที่เปิดขึ้นมาเพื่อรับงานและรับสมัครมือโพสต์โดยเฉพาะหลายแห่ง ผมลอง search ดูยังพบเว็บไซต์ลักษณะนี้ในหน้าแรกของผลการค้นหาสองสามเว็บเลย 

นักวิชาการด้านการประชาสัมพันธ์ออนไลน์ให้ความเห็นว่า ในช่วงหลายปีมานี้กลุ่มแกงค์มาเฟียออนไลน์ได้เติบโตขึ้นมากในอินเตอร์เน็ต การทำผิดกฎหมายในโลกไซเบอร์เพิ่มขึ้นและเปิดเผยมากขึ้น ทำกันเป็นขบวนการ จนกลายเป็นเครือข่ายธุรกิจสีเทาไปแล้ว

ปีที่แล้วเคยมีกรณีบริษัทนมผงแห่งหนึ่งจ้างมือโพสต์โจมตีสินค้านมผงของบริษัทคู่แข่ง แล้วเป็นคดีฟ้องร้อง จนตำรวจจับมือโพสต์ได้ 6 คน และได้รับโทษทางอาญา

อาชีพนี้เคยถูกทำเป็นสกู๊ปข่าวลักษณะเปิดปมในรายการทีวีจีนที่ฮือฮามาแล้วครั้งหนึ่ง และในการประชุมกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมา ก็มีสมาชิกบางคนเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมว่า ควรปรับปรุงกฎหมายเพื่อควบคุมอาชีพรับจ้างโพสต์ได้แล้ว

โลกออนไลน์และการตลาดออนไลน์ในประเทศจีนเขาเล่นกันขนาดนี้แล้วหรือนี่ กองเดิมพันยิ่งสูง เกมก็ยิ่งดุเดือดจริง ๆ

ข้อมูล Internet Solidot

11 เม.ย. 2554

ทำไม Mark Zuckerberg จึงเรียนภาษาจีน?

Image from shwedarling.com

ทีแรกผมไม่คิดว่าแฟนสาวของซัคเคอร์เบิร์กซึ่งเป็นคนอเมริกันเชื้อสายจีนจะเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ผมคิดผิดครับ มีรายงานในเว็บไซต์ aolnews ว่า Priscilla Chan คือผู้จุดประกายให้ซัคเคอร์เบิร์กสนใจประเทศจีน

จากกระแสข่าวที่ลือกันหนาหูว่า Facebook กำลังจะเซ็นสัญญากับหุ้นส่วนที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของจีน เพื่อสร้างเว็บ social network ที่ไม่ถูกบล็อคในจีน ทำให้ผมรู้สึกสนใจว่าซีอีโอหนุ่มเจ้าของเว็บเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกคนนี้คิดอย่างไรกับประเทศจีน

ระหว่างที่แปลบทความเรื่องข่าวลือเกี่ยวกับ Facebook ในจีน ก็บังเอิญได้เห็นบทความอีกชิ้นหนึ่งพูดถึงแนวคิดของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ต่อกลยุทธ์ของ Facebook สำหรับประเทศจีน

บทความนี้ถูกโพสต์ไว้ในบล็อก Tech Crunch ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เป็นการสรุปเนื้อหาของการให้สัมภาษณ์ที่ค่อนข้างยาวครั้งหนึ่งของซัคเคอร์เบิร์ก

สิ่งที่ทำให้ผมสนใจก็คือเรื่องที่เขาพูดเกี่ยวกับประเทศจีน

"จีนเป็นประเทศที่มีความซับซ้อนอย่างมาก" ซัคเคอร์เบิร์กกล่าว

ระหว่างนี้ Facebook กำลังพยายามอย่างมากเพื่อให้มั่นใจว่ากลยุทธ์ในการเข้าสู่ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกนี้ดำเนินมาถูกทาง เขาหวังว่าหาก Facebook ในฐานะบริษัทจากโลกตะวันตก สามารถประสบความสำเร็จได้ในที่ที่ยังไม่เคยมีบริษัทจากโลกตะวันตกอื่น ๆ เคยทำได้มาก่อน (เช่นรัสเซีย) จะทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นในการเลือกหุ้นส่วนที่เหมาะสมเพื่อที่จะประสบความสำเร็จในประเทศจีนด้วย

ซัคเคอร์เบิร์กยังบอกด้วยว่าเขาให้ความเคารพต่อค่านิยมในแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน Facebook ยอมรับในเรื่องนี้เสมอมา ตัวอย่างเช่น การโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับลัทธินาซีเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศเยอรมัน Facebook จึงบล็อคเนื้อหาดังกล่าวในเยอรมัน แต่ไม่บล็อคในประเทศอื่น ในทำนองเดียวกัน การโพสต์ภาพของนบีมูฮัมหมัดก็เป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศปากีสถาน

ความคิดนี้ของซัคเคอร์เบิร์กนี่เองอาจเป็นที่มาของการวิเคราะห์กันว่า Facebook ในประเทศจีนอาจจะเป็นเวอร์ชั่นที่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาบางส่วนที่ทางการปักกิ่งไม่ปลื้ม

นอกจากนี้ ความสนใจต่อประเทศจีนของสุดยอดซีอีโอหนุ่มคนนี้ยังสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนเมื่อเขาบอกว่าเขาใช้เวลาอย่างมากในการเรียนรู้วัฒนธรรมจีน ถึงขนาดเข้าชั้นเรียนภาษาจีนด้วยตัวเองเลยทีเดียว

"คุณจะเชื่อมโยงคนทั้งโลกเข้าด้วยกันได้อย่างไรหากคุณละทิ้งคนอีก 1,600 ล้านคนไว้ข้างนอก?"

ผมคิดว่าชัดเจนมากสำหรับการให้ความสำคัญต่อตลาดประเทศจีนของ Facebook จึงไม่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดหากเราจะได้เห็นเว็บไซต์ Facebook ในเวอร์ชั่นใหม่ที่เป็นภาษาจีนในอีกไม่นานหลังจากนี้

ข้อมูลจาก Tech Crunch

10 เม.ย. 2554

ลือ Facebook เซ็นสัญญากับ Baidu แล้ว

Image: chinahush.com

เป็นเวลาเกือบสองปีมาแล้วที่ Facebook เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยจำนวนสมาชิก active users กว่า 590 ล้านคน ถูกบล็อคในประเทศจีน

มีข่าวลือในวงการว่า Facebook ได้เซ็นสัญญากับบริษัท Baidu แล้ว เพื่อร่วมกันสร้างเว็บ social network สำหรับประเทศจีนโดยเฉพาะ

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยแห่งหนึ่งในจีนระบุว่า เว็บ social network ที่จะสร้างขึ้นนี้จะเป็นรูปแบบใหม่ และจะไม่ถูกรวมเข้ากับ Facebook เดิม มีนักสังเกตการณ์บางคนเชื่อว่าหุ้นส่วนของ Facebook ในจีนน่าจะเป็น "Alibaba" "China Mobile" "Sohu" หรือ "Baidu" บริษัทใดบริษัทหนึ่ง

ในเดือนธันวาคมปี 2553 พนักงานของ Baidu ยืนยันว่า Mark Zuckerberg - CEO ของ Facebook ได้แวะมาเยี่ยมสำนักงานใหญ่ของ Baidu ระหว่างการเดินทางไปเยือนประเทศจีนเป็นการส่วนตัว ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2554 ทีมงานของ Baidu ก็ได้บินไปเยือนสำนักงานใหญ่ของ Facebook ที่ Silicon Valley บ้าง

หากทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริง มันอาจหมายถึงกำเนิดของ Facebook ฉบับเซ็นเซอร์ หรืออาจจะเป็นเว็บไซต์ social network อันใหม่เลยก็ได้

ที่มา wwwery.com

9 เม.ย. 2554

Weibo เปลี่ยนโดเมน เตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น

Image: techrice.com

มีข่าวว่าเว็บ Microblog อันดับหนึ่งของจีนที่ชื่อว่า Weibo (เวยป๋อ) กำลังจะเปลี่ยนโดเมนเนมจาก t.sina.com เป็น weibo.com

ผมเคยเขียนถึงเว็บ Weibo ไปแล้วครั้งหนึ่ง พูดถึงที่มาและความสำเร็จของเครือข่ายนี้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เว็บนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนว่า 新浪微博 (ซินลั่งเวยป๋อ) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "เวยป๋อ" ซึ่งแปลตรง ๆ ว่า microblog และมีรูปแบบคล้าย ๆ กับ Twitter

Weibo เป็นบริการที่อยู่ภายใต้ Sina.com เว็บข่าวสารออนไลน์อันดับหนึ่งของจีน จึงใช้ url ที่เป็น subdomain ของ Sina.com มาแต่ต้น

ข่าวการเปลี่ยนโดเมนนี้ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าเป็นการแยกเว็บ Weibo ออกมาจาก Sina.com ก็เพื่อเตรียมตัวนำ Weibo เข้าตลาดหุ้น อันเป็นเป้าหมายระยะยาวของผู้ลงทุนในเว็บสังคมออนไลน์อยู่แล้ว

ในบทความที่ผมนำมาเสนอนี้ Wei Wuhui บล็อกเกอร์ที่เป็นนักวิชาการด้านสื่อแห่งมหาวิทยาลัยชื่อดังในเซี่ยงไฮ้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนโดเมนครั้งนี้ เขากล่าวว่า จริงอยู่ที่ microblog เป็นเรื่องที่ฮ็อตสุด ๆ ในโลกออนไลน์ของจีนขณะนี้ แต่มันจะได้รับความนิยมไปอีกนานเท่าใดไม่มีใครบอกได้ ดังนั้น โดเมน Weibo.com จึงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะกลายเป็นโดเมนเน่าหาก microblog เสื่อมความนิยมลง (weibo ในภาษาจีนแปลว่า microblog) และหากเป็นเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องยากที่จะปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัยสำหรับชื่อโดเมนที่เฉพาะเจาะจงแบบนี้

ตัวอย่างของปัญหาทำนองนี้ก็มีให้เห็นแล้วในกรณีของ blogger.com ซึ่งเมื่อมันเสื่อมความนิยมลงแล้วก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นได้ จนกลายเป็นแค่บริการอย่างหนึ่งในเครือของ Google เท่านั้น ไม่สามารถเป็นเว็บไซต์ที่ทำรายได้ให้แก่ผู้ลงทุนได้

ที่ผ่านมาบริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของจีนมีแต่นำชื่อเว็บไซต์มาเชื่อมโยงกับบริการเพื่อให้คนจดจำ เช่น 百度一下 (ลองไป่ตู้ดูสิ) ซึ่งหมายถึงว่า ลองค้นหาในไป่ตู้ดูสิ เป็นต้น แต่เรายังไม่เคยเห็นเว็บไซต์ที่นำชื่อบริการมาเป็นชื่อเว็บไซต์แบบที่ Weibo กำลังจะทำนี้เลย

สำหรับโดเมน Weibo.com จะประสบความสำเร็จได้มีอยู่ทางเดียวคือ microblog สามารถเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ได้จริง ซึ่งถ้าทำสำเร็จ Sina ซึ่งเป็นเจ้าของ Weibo ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลใจว่าหาก microblog ล้าสมัยแล้วจะทำอย่างไร แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันยังไม่มีวี่แววแม้แต่น้อยเลยว่ากลุ่มผู้บริหารเว็บ Weibo จะคิดหาโมเดลธุรกิจที่จะสร้างรายได้สำหรับเว็บได้

ตอนนี้รูปแบบของ microblog ยังคงเป็นแค่ชื่อเสียงที่ร่ำลือกันในวงการ แต่ยังไม่มีลู่ทางที่จะหารายได้ได้จริงเลย

คำถามมีอยู่ว่า การเป็นเว็บ microblog ที่ใหญ่ที่สุดของจีนแล้วยังไง หากว่ายังไม่มีโมเดลทางธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ได้จริง และถ้าบังเอิญมีเทรนด์ใหม่อย่างอื่นเกิดขึ้นในวงการอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้ก็จะเฮละโลกันไปเห่อของเล่นใหม่ แล้วจะเอาโดเมน weibo.com ไปทำอะไรได้

ผมคิดว่าการวิเคราะห์ข้างต้นก็เป็นประโยชน์กับผู้ที่คิดจะทำเว็บไซต์ภาษาจีนโดยทั่วไปด้วย เป็นแง่คิดอย่างหนึ่งในการเลือกโดเมนเนมได้ครับ แต่คงจะเหมาะกับการทำเว็บไซต์สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการสร้างแบรนด์ในระยะยาวมากกว่าเว็บไซต์เล็ก ๆ ที่นำเสนอเรื่องที่เฉพาะเจาะจงและหวังผลทางด้าน SEO ในระยะเวลาสั้น ๆ

ที่มา Weiwuhui.com

5 เม.ย. 2554

แอบดูคนจีนทำ SEO - "Thailand Hotel" (3)

นอกจากปัจจัยภายในเว็บไซต์แล้ว อันดับของผลการค้นหาจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเว็บไซต์ด้วย ค่าที่เรามักใช้วัดความสำคัญของเว็บไซต์กันก็คือ PageRank และจำนวน backlink

PageRank (PR) คือค่าที่ Google กำหนดขึ้นเพื่อวัดคุณภาพของเว็บเพจ คล้าย ๆ กับการจัดชั้นยศให้เว็บ มีค่าตั้งแต่ 1 ถึง 10 โดยค่าที่มากกว่าหมายความว่ามีชั้นยศที่สูงกว่า และมีผลให้มีอันดับในผลการค้นหาที่ดีกว่าด้วย ผมเช็คดูแล้ว เว็บ taiguojiudian มีค่า PR เท่ากับ 2 ซึ่งผมถือว่าไม่สูงเท่าไหร่

Backlink คือ link จากเว็บไซต์คนอื่นที่วิ่งเข้ามาที่เว็บไซต์ของเรา เป็นค่าที่ใช้วัดความนิยมของเว็บไซต์ยิ่งมี backlink มากก็แปลว่าเว็บไซต์นั้นได้รับความนิยมสูง และยังมีผลต่อการจัดอันดับในผลการค้นหาด้วย ผมเช็คดูพบว่าเว็บ taiguojiudian มี backlink จำนวน 281 links และเกือบทั้งหมดมาจากเว็บ mynikkibeach.cn ซึ่งเป็นเว็บไซต์ภาษาจีนของโรงแรม Nikki Beach อีกเว็บหนึ่ง เป็นเว็บรวมของโรงแรมในเครือ Nikki Beach ทั้งหมด และเว็บไซต์นี้ก็จัดทำโดยบริษัทเดียวกันกับที่ทำเว็บ taiguojiudian ด้วย

สรุปได้ว่า backlink มีจำนวนไม่มากนัก และสร้างมาจากเว็บของเจ้าของเดียวกัน

จากทั้งหมดที่เราวิเคราะห์กันมา หากเราจะทำเว็บอย่าง taiguojiudian ขึ้นมาสักเว็บนึงก็คงทำได้ไม่ยากนัก แต่ก็สามารถทำให้ติดอยู่หน้าแรกของผลการค้นหาของ Google ภาษาจีน ได้ และทำให้มีอัตราการเข้าชมเว็บไซต์สูงขึ้นอย่างมากตามที่เจ้าของโรงแรมเองบอก

แต่น่าเสียดายที่เว็บนี้ดูเหมือนจะถูกทิ้งไปซะแล้ว เพราะไม่มีการอัพเดทข่าวสารใหม่ ๆ อีกเลยตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคมปีที่แล้ว และผมไม่แน่ใจว่าจากรูปแบบที่เป็นแค่บล็อกง่าย ๆ แบบนี้ จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ชมที่สนใจจะจองห้องพักหรือไม่ อาจเป็นได้ว่ามีผู้ชมมากก็จริง แต่ส่วนใหญ่จะเข้ามาดูแล้วจากไป ไม่มีการจองห้องพัก เจ้าของโรงแรมจึงเลิกสนใจเว็บนี้ไปในที่สุด

นอกจากนี้ หากเราทดลองค้นหาด้วย keyword ภาษาจีนคำว่า 泰国酒店 บน Baidu ซึ่งเป็น Search engine อันดับหนึ่งของจีน ปรากฏว่าเว็บ taiguojiudian ไปโผล่อยู่ในหน้าที่ 8 โน่นเลยครับ ดังนั้น คนจีนส่วนใหญ่ที่ใช้ Baidu ค้นหา แทบจะไม่มีโอกาสได้เห็นเว็บนี้เลยด้วยซ้ำ มีเพียงคนส่วนน้อยที่ใช้ Google ภาษาจีนเท่านั้นที่จะหาเว็บนี้พบ แต่แค่ส่วนน้อยก็ทำให้คนเข้าเว็บมากพอจนเจ้าของโรงแรมรู้สึกประทับใจในตอนแรกได้แล้ว

งานนี้ผมไม่รู้ว่าเขาคิดค่าจ้างค่าออนกันเท่าไหร่ ถ้าไม่แพงก็แล้วไป แต่ถ้าแพงแล้วได้แค่นี้ก็น่าผิดหวังจริง ๆ ครับ และไม่รู้ว่าลูกค้ารู้หรือเปล่าว่าคนจีนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ Google !!!

ข้อสังเกตอีกอย่างนึงของผมคือ ผมคิดว่า keyword นี้มันกว้างเกินไป ในความเป็นจริงคนที่กำลังหาข้อมูลโรงแรมในการวางแผนท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะค้นหาด้วยคำที่เฉพาะเจาะจงกว่านั้น เช่น 曼谷酒店 (โรงแรมในกรุงเทพฯ) หรือ 普吉岛酒店 (โรงแรมในภูเก็ต) เป็นต้น และผมคิดว่า keyword ภาษาจีนแบบนี้ยังเป็นนิชที่น่าสนใจ คู่แข่งไม่มากเท่าภาษาอังกฤษ ถ้าจับมาทำมีโอกาสติดในหน้าแรกทั้งของ Baidu และ Google ได้ไม่ยากนัก

ใครที่มีความรู้และเชี่ยวชาญการทำ SEO แนวนี้น่าจะลองศึกษาดูนะครับ

แอบดูคนจีนทำ SEO - "Thailand Hotel" (2)

ตอนนี้เราจะวิเคราะห์เว็บไซต์ภาษาจีนของโรงแรม Nikki Beach ที่ติดหน้าแรกในผลการค้นหาบน Google ภาษาจีนด้วย keyword ภาษาจีน 泰国酒店 กัน เริ่มจากข้อมูลที่เห็นในหน้าผลการค้นหาก่อนเลยดีกว่า


泰国酒店


2010年3月15日 ... 2011 泰国酒店网| Powered by Nikki Beach 中文网. 3 visitors online now 3 guests, 0 members. Max visitors today: 3 at 04:11 am ICT ...
www.taiguojiudian.com/ - 网页快照 - 类似结果


บรรทัดแรกคือ Title เขาเขียนว่า “泰国酒店网” ซึ่งก็คือ keyword บวกคำว่า 网 ที่แปลว่าเว็บ ส่วนใน Description ก็ไม่มีอะไรมาก เป็นข้อมูลวันที่ และสถิติการเข้าชมเว็บ แต่ก็มี keyword บวกคำว่า 网 ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และมีชื่อ Nikki Beach ตามด้วยคำว่า 中文网 ซึ่งหมายถึง เว็บภาษาจีนของ Nikki Beach

จุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งก็คือ ที่อยู่เว็บไซต์หรือ url แทนที่จะเป็น www.nikkibeach.com หรืออะไรที่ใกล้เคียง กลับกลายเป็น www.taiguojiudian.com ซึ่งไม่มีคำว่า Nikki ที่เป็นชื่อของรีสอร์ทอยู่เลย และนี่อาจจะเป็นทีเด็ดของเขาก็ได้ เพราะ taiguojiudian ก็คือการสะกดเสียงอ่านของคำว่า 泰国酒店 ซึ่งเป็น keyword นั่นเอง

ผมก็ไม่รู้ว่า Google สามารถแปล taiguojiudian ออกหรือเปล่า และมีผลต่อการจัดอันดับหรือไม่ แต่ประเด็นก็คือ คำว่า taiguojiudian ในภาษาอังกฤษไม่มีความหมายอะไร แต่สำหรับคนจีน ดูจากคำนี้ใน url กับชื่อที่ Title ที่เป็นภาษาจีนในบรรทัดแรกก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือเว็บไซต์เกี่ยวกับโรงแรมในประเทศไทย

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ลับลวงพรางอยู่เหมือนกัน เพราะดูจากข้อมูลทั้งหมดในผลการค้นหา เราน่าจะคาดหวังว่าเว็บไซต์หน้านี้ควรจะมีข้อมูลเกี่ยวกับโรงแรมต่าง ๆ จำนวนมากในประเทศไทย เพราะหัวข้อมันแปลว่า "โรงแรมในประเทศไทย" แต่พอคลิกเข้าไปดูจริง ๆ กลับกลายเป็นเว็บของโรงแรมที่ชื่อ Nikki Beach โรงแรมเดียว

ทีนี้ลองเข้าไปดูรายละเอียดภายในเว็บไซต์ดูบ้าง (คลิกดูที่นี่)

หน้าตาเว็บไซต์ก็คล้าย ๆ เว็บไซต์โรงแรมทั่วไป หัวข้อตัวใหญ่ที่สุดและอยู่บนสุดของหน้ายังคงเป็น keyword อยู่ มีคำอธิบายข้างใต้หัวข้อว่า "เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ Nikki Beach Resort เกาะสมุย" เนื้อหาในหน้าแรกนี้ประกอบด้วยเมนูต่าง ๆ เช่น แนะนำรีสอร์ท แนะนำห้องพัก ห้องอาหาร สโมสร แกลเลอรี่ภาพ จองห้องพัก และแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในเกาะสมุย

การจัดวางหน้าก็เป็นลักษณะบล็อก คือมีส่วนที่เป็นบล็อกโพสต์อยู่ด้านหนึ่ง และมี side bar อยู่ทางขวามือ ผมลองเช็ค source code ดูจึงรู้ว่าเขาใช้ WordPress กับ Template แบบเรียบง่าย และไม่ได้มีการปรับแต่งอะไรมากนัก สังเกตจากองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างยังคงเป็นภาษาอังกฤษอยู่

และที่ด้านล่างของหน้าเว็บ ก่อนจะถึงส่วนที่เป็นสถิติการใช้งาน ก็มีการย้ำ keyword อีกครั้งหนึ่ง ตามด้วยข้อความ Powered by Nikki Beach 中文网 (แปลว่าจัดทำโดยเว็บภาษาจีนของ Nikki Beach)

เท่าที่ดู ผมคิดว่าการปรับแต่งภายใน (on page) ก็ไม่มีอะไรมาก แค่ใส่ keyword ที่ Title และที่ด้านล่างของหน้าเว็บเท่านั้น

ในบทต่อไปเราจะลองตรวจสอบปัจจัยภายนอก (off page) ดูบ้างว่าจะเป็นอย่างไร

อ่านต่อตอนที่ 3 (จบ)

แอบดูคนจีนทำ SEO - "Thailand Hotel" (1)

 
การทำ SEO คือการปรับแต่งเว็บไซต์เพื่อให้ได้อันดับที่ดีในผลการค้นหา สำหรับเว็บไซต์ภาษาจีนน่าจะมีหลักการเหมือน ๆ กับการทำ SEO เว็บไซต์ภาษาอังกฤษ เพียงแต่ควรจะเน้นไปที่ Baidu ซึ่งเป็น search engine อันดับหนึ่งของจีนมากกว่า Google

สองสามวันก่อนผมบังเอิญไปอ่านเจอคำชมจากลูกค้าในเว็บไซต์ของบริษัทจีนแห่งหนึ่ง ซึ่งรับทำเว็บไซต์ภาษาจีนและทำการตลาดออนไลน์ในประเทศจีน สิ่งที่ทำให้ผมสะดุดตาก็คือชื่อของลูกค้าซึ่งเป็นรีสอร์ทแห่งหนึ่งบนเกาะสมุย ผมจำได้ว่าเคยเห็นเว็บไซต์ภาษาจีนของรีสอร์ทแห่งนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่จำที่อยู่เว็บไซต์ไม่ได้แล้ว

จากนั้นผมก็ค้นหาเว็บไซต์ภาษาจีนของรีสอร์ทแห่งนี้จนพบ และคิดว่าเรื่องทั้งหมดนี้น่าสนใจดี จึงได้รวบรวมมาเล่าสู่กันฟังในบล็อกนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาเรื่องเทคนิคการทำ SEO เว็บไซต์ภาษาจีนเรื่องหนึ่งก็แล้วกัน

ก่อนอื่นเรามาดูกันหน่อยดีกว่าว่าลูกค้าชื่นชมผลงานของบริษัทนี้ว่าอย่างไรบ้าง

“ภายในเวลาไม่เกินสองเดือน คุณได้ทำให้เว็บไซต์ภาษาจีนของรีสอร์ทเปิดใหม่ของเราที่เกาะสมุย ติดอยู่ในหน้าแรกของผลการค้นหาผ่าน Google China ด้วยคำค้นหา “Thailand Hotel” (ภาษาจีน 泰国酒店) ซึ่งเป็น keyword ที่มีการแข่งขันสูงมาก ผลงานของคุณทำให้อัตราการเข้าชมเว็บไซต์ของเราจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นมากทีเดียว" [1]

เป็นคำชื่นชมจาก Mike Penrod เจ้าของรีสอร์ท Nikki Beach เกาะสมุย

ใครที่เคยทำ SEO ในวงการท่องเที่ยวหรือโรงแรมคงรู้ดีว่า keyword แบบนี้มัน "หิน" ขนาดไหน แต่ในกรณีนี้เนื่องจากเป็น keyword ภาษาจีน การแข่งขันยังไม่รุนแรงเท่าภาษาอังกฤษ ระหว่างที่เขียนบทความนี้ผมได้ทดลองทำการค้นหาด้วยคำภาษาอังกฤษและภาษาจีนเปรียบเทียบกัน บนเว็บไซต์ Google ภาษาจีน (http://www.google.com/webhp?hl=zh-CN) ได้ผลดังนี้ครับ

Thailand Hotel” ได้ผลการค้นหาทั้งหมดประมาณ 13,400,000 รายการ
泰国酒店” (แปลตรง ๆ ก็คือ Thailand Hotel) ได้ผลการค้นหาทั้งหมด 3,470,000 รายการ

อย่างไรก็ตาม จากผลการค้นหาในภาษาจีนทั้งหมด 3 ล้านกว่ารายการ จะทำให้เว็บติดอันดับในหน้าแรกนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย* เขาทำได้ยังไง??? เอาไว้ในบทต่อไปเราลองมาทำตัวเป็นนักสืบโคนันแห่งโลก SEO กันหน่อยดีกว่า

อ่านต่อตอนที่ 2 ...


* หมายเหตุ หลังจากโพสต์บทความนี้แล้วนำไปเผยแพร่ใน thaiseoboard.com จึงทราบว่าเกิดความผิดพลาดเรื่องอันดับผลการค้นหา ทีแรกผมเข้าใจผิดว่าเว็บที่เขียนถึงนี้ติดอันดับหนึ่ง แต่จริง ๆ มันมาติดอันดับหนึ่งในหน้าที่ผมทดลองก็เพราะผม login Google account อยู่ และมันจำได้ว่าผมเคยคลิกดูที่เว็บนี้บ่อย ๆ จึงทำให้มันขึ้นไปอยู่ในอันดับหนึ่ง ในขณะที่ถ้าผมไม่ login Google account มันจะไปอยู่ที่อันดับ 8

ผมจึงได้กลับมาแก้ไขบทความนี้เล็กน้อย ขอบคุณ ngokung จาก thaiseoboard ที่ช่วยอธิบายเรื่องผลการค้นหาที่แตกต่างเมื่อ login Google account ครับ

1 เม.ย. 2554

ทำเว็บภาษาจีนต่างจากทำเว็บภาษาอังกฤษอย่างไร

Image: cristyli.blogspot.com

หากคุณเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้วว่าตลาดประเทศจีนนั้นใหญ่โตขนาดไหน มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมหาศาลปานใด และมีมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยผ่านอินเตอร์เน็ตมโหฬารเพียงไร คุณอาจจะเริ่มเห็นแล้วว่าธุรกิจของคุณน่าจะเข้าไปมีเอี่ยวในตลาดที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในโลกออนไลน์กับเขาบ้าง ก้าวแรกของธุรกิจของคุณในตลาดแห่งนี้คือ คุณต้องพูดภาษาเดียวกันกับชาวบ้านในตลาดซะก่อน ซึ่งนั่นก็คือ การมีเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเป็นภาษาจีน

จริงอยู่ที่ว่าคนจีนจำนวนหนึ่งรู้ภาษาอังกฤษ แต่จะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ (ผมเชื่อว่ามีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์) และต่อให้เขารู้ภาษาอังกฤษ คุณคิดว่าเขาอยากจะดูเว็บไซต์ภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนมากกว่ากัน

เอาล่ะ สมมติว่าคุณตัดสินใจแล้วว่าต้องการมีเว็บไซต์ภาษาจีน แล้วยังไงต่อ การทำเว็บไซต์ภาษาจีนมันเหมือนหรือต่างจากการทำเว็บไซต์ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยยังไง

ต่างกันแน่นอน เพราะเว็บไซต์ภาษาจีนเป็นภาษาจีน ส่วนเว็บไซต์ภาษาอังกฤษมันเป็นภาษาอังกฤษน่ะสิ ???!!! --- ขออภัย ผมล้อเล่นน่ะครับ เห็นดินหน้าบ้านมันนุ่มเนียนดีก็เลยอยากทุบเล่นซะงั้น :-p

เอายังงี้ดีกว่า ถ้าคุณไปหาบริษัทหรือ freelance ที่ทำเว็บไซต์ภาษาอังกฤษหรือแม้แต่ภาษาไทยให้คุณ แล้วบอกเขาว่าคุณอยากให้เขาทำเว็บไซต์ภาษาจีนให้ด้วย คุณอาจจะได้คำตอบบางส่วนว่ามันแตกต่างกันอย่างไร แต่ถ้าเขาไม่เคยทำเว็บภาษาจีนมาก่อนเลย ปัญหาบางอย่างอาจถูกมองข้ามไปก็ได้

ผมเองเคยทำบล็อกเล็ก ๆ เป็นภาษาจีนมาก่อน และเคยประสบกับปัญหาในการสร้างเว็บไซต์ภาษาจีนมาบ้าง จึงอยากจะถือโอกาสนี้สรุปเป็นประเด็นเอาไว้ เผื่อจะมีผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง

ผมคิดว่าข้อแตกต่างในการทำเว็บไซต์ภาษาจีนกับการทำเว็บไซต์ภาษาอังกฤษมีดังนี้ครับ 

  • เว็บไซต์ภาษาจีนต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ชมให้ชัดเจนก่อนว่าเป็นคนจีนกลุ่มไหน แผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง จีนโพ้นทะเล หรือทั้งหมด
  • กลุ่มเป้าหมายจะเป็นตัวกำหนดว่าควรจะใช้ภาษาจีนแบบใด ระหว่าง Traditional Chinese กับ Simplified Chinese หรือจะใช้ทั้งสองแบบ
  • กรณีกลุ่มเป้าหมายเป็นจีนแผ่นดินใหญ่ ควรตรวจสอบเรื่องการบล็อคเว็บไซต์และการบล็อค Web hosting ก่อน และศึกษาวิธีป้องกันไม่ให้เว็บไซต์ถูกบล็อคหลังจากเปิดใช้งานแล้ว
  • การออกแบบเว็บไซต์และการหา keywords ควรคำนึงถึงการทำ SEO สำหรับ Baidu เป็นสำคัญ
  • การกำหนด Character encoding ในภาษา HTML ควรกำหนดเป็น utf-8
  • ควรกำหนดขนาดตัวอักษรให้ใหญ่กว่าภาษาอังกฤษเล็กน้อย เพราะตัวอักษรภาษาจีนมีขีดเยอะ ตัวอักษรเล็กจะอ่านยาก
  • หากใช้ template สำเร็จรูปสำหรับซอฟท์แวร์จำพวก CMS อาจต้องมีการปรับแต่งส่วนประกอบของ template ให้เป็นภาษาจีน รวมทั้งรูปแบบในการแสดงวัน เวลาด้วย
  • ไม่สามารถใช้ Facebook, Twitter, Youtube ในการโปรโมทเว็บไซต์ในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ เพราะเว็บ social network เหล่านี้ถูกบล็อคหมดแล้ว

อืม เท่าที่ผมพอจะนึกได้ก็ประมาณนี้แหละ หากต้องทำจริง ๆ คงมีรายละเอียดปลีกย่อยให้ต้องคิดอีกเยอะ ขึ้นอยู่กับเนื้อหา องค์ประกอบ และขนาดของเว็บไซต์ที่จะทำด้วย

หวังว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการจะมีเว็บไซต์ภาษาจีนไว้เป็นหน้าต่างติดต่อกับชาวจีนในโลกออนไลน์นะครับ

31 มี.ค. 2554

คนจีน (บางคน) ยอมอดเพื่อซื้อของแบรนด์เนม

Image source: asianoffbeat.com

เมื่อวานผมได้คุยกับคนจีนที่มาเที่ยวที่ภูเก็ตคนนึง บังเอิญว่าเขาเป็นคนชอบสะสมเปลือกหอยเหมือนเพื่อนผม ก็เลยได้ชวนกันไปกินข้าว เพื่อนผมก็ชวนผมไปด้วย เผื่อไปเป็นเพื่อนคุยกับเขา

ในระหว่างที่กินข้าวไปคุยกันไป มีตอนหนึ่งเราก็คุยกันว่าคนจีนสมัยนี้มีฐานะดีขึ้นมาก ผมจึงเล่าให้เขาฟังว่าผมเพิ่งอ่านเจอมาว่าประเทศจีนกำลังจะเป็นตลาดสินค้าหรูแบรนด์เนมที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเขาก็ไม่ประหลาดใจอะไร แต่เขาเล่าให้ผมฟังเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติกรรมนี้ของคนจีน ซึ่งน่าสนใจดี ผมก็เลยเอามาเล่าต่อในบล็อกนี่แหละ

เขาบอกว่าคนจีนที่ชอบซื้อของแบรนด์เนมราคาแพงมีอยู่สองประเภท ประเภทแรกเป็นกลุ่มคนที่ภาษาจีนเรียกว่า 暴发户 (เป้า ฟา ฮู่) หรือ "เศรษฐีใหม่" ที่ร่ำรวยขึ้นมาอย่างรวดเร็ว คนเหล่านี้รวยจริง มีเงินจริง จะซื้อหากระเป๋าหลุยส์ หรือนาฬิกาโรเล็กซ์มาใส่ไม่ใช่ปัญหา แต่ด้วยความที่รวยเร็วแบบปัจจุบันทันด่วน จึงปรับตัวทางวัฒนธรรมไม่ทัน กลายเป็นคนชอบอวดร่ำอวดรวยไปเลย

มีเรื่องตลกที่คนจีนเขาเล่ากันเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ว่า คนจีนสองคนเป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่กัน แต่ไม่ได้เจอกันมานาน คนหนึ่งยังจนเหมือนเดิม แต่อีกคนหนึ่งโชคดีรวยขึ้นมาอย่างปุบปับ ทั้งเนื้อทั้งตัวเต็มไปด้วยเครื่องเคราเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง ทั้งที่คอ ที่ข้อมือ นิ้วมือ ตลอดจนเสื้อผ้าอาภรณ์ทุกอย่าง วันหนึ่งเพื่อนสองคนนี้มาเจอกันโดยบังเอิญ หลังจากที่ไม่ได้เจอกันมานาน อาการของคนที่รวยแบบไม่ทันตั้งตัวก็แสดงออกอย่างน่าขำ ประมาณว่าชอบแบะคอเสื้อออกให้เห็นสร้อยที่คอ ชอบกวาดมือผ่านหน้าเพื่อนช้า ๆ ให้เห็น accessories ที่ข้อมือหรือนิ้วมือชัด ๆ อะไรทำนองนั้น ผมก็พยายามบรรยายตามท่าทางที่เขาทำให้ดูนะครับ คุณคงเดาออกว่าเขาทำกันยังไง

อันนี้เรียกว่าพวกรวยแบบไม่ทันตั้งหลัก เลยออกอาการเป๋ ๆ ให้ชาวบ้านเขาขำ ๆ น่ะ แต่บางคนอาจจะอิจฉาก็ได้

อีกพวกหนึ่งที่ชอบซื้อของแบรนด์เนมแพง ๆ ใส่ คือพวกที่เขาเรียกว่า 虚荣心 ผมไม่รู้ว่าจะใช้คำไทยว่าอะไรดี ประมาณว่าเป็นคนประเภทขาดความมั่นใจในตัวเอง ต้องหาสิ่งของนอกกายมาช่วยให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น คนเหล่านี้ที่จริงไม่ได้รวยอะไร เป็นพนักงานบริษัท เงินเดือนอาจจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปบ้าง แต่ก็ไม่พอจะซื้อหาของแพงมาใช้ได้ง่าย ๆ แต่ด้วยความที่เป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเองอย่างมาก จึงต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งอื่นมาเยียวยาตัวเอง 

เขาเล่าว่าบางคนถึงกับยอมกินแต่อาหารถูก ๆ พวกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เงินเดือนแทบไม่ใช้ พยายามเก็บ เก็บ เก็บ หลายเดือน จนมีเงินพอไปซื้อกระเป๋ามาใบนึง ซึ่งราคาอาจเท่ากับเงินเดือนสามสี่เดือนรวมกันเลยทีเดียว เรียกว่าอาการหนักเลยครับ

ก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นค่านิยมบางอย่างของชาวจีนบางส่วนในปัจจุบัน โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าคนจีนส่วนใหญ่ขาดที่พึ่งทางจิตใจ เพราะศาสนาถูกทำลายไปมากในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ยึดถือกันแต่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านก็เสื่อมความศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไปมากแล้ว เลยกลายเป็นช่องว่างที่กลวง ๆ ในจิตใจ (หรือจิตวิญญาณ) ทำให้ค่านิยมวัตถุเข้ามาครอบงำได้ง่าย ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ

28 มี.ค. 2554

โฆษณาออนไลน์ภาษาจีน แปลผิดเสียหายหลายแสน

ภาพประกอบจาก sojuandi.blogsome.com

ผมเคยเขียนถึงการแปลเว็บไซต์เป็นภาษาจีนไปครั้งนึงแล้ว ในหัวข้อที่ว่าควรจะให้ใครแปลให้ถึงจะออกมาดี มาคราวนี้ผมไปเจอบทความหนึ่งในบล็อกของบริษัทการตลาดออนไลน์ในประเทศจีนแห่งหนึ่ง มีกรณีศึกษาของการแปลผิดและสร้างความเสียหายต่อกิจการมาก จึงคิดว่าน่าจะนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

บทความนี้เล่าถึงการทำแคมเปญการตลาดออนไลน์ในประเทศจีนด้วยการลงโฆษณาแบบจ่ายเมื่อคลิก (Pay per click - PPC) ของบริษัทรับจองโรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่งการแข่งขันในธุรกิจนี้รุนแรงมาก มีคู่แข่งรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ค่าโฆษณาต่อคลิกก็สูงมากด้วย

ผู้เขียนเล่าว่าตอนที่รับงานมานั้น ลูกค้าได้ใช้เงินในการโฆษณากับ Baidu PPC ไปแล้วกว่า 10,000 ยูโร แต่ผลลัพธ์ด้านยอดจองโรงแรมกลับต่ำมากเมื่อเทียบกับจำนวนคลิกที่มีถึงหลายพันคลิก

เมื่อเขาทำการตรวจสอบคีย์เวิร์ด การเขียนคำโฆษณา และการแปลข้อความ เขารู้สึกช็อคกับปัญหาที่เจอ สาเหตุที่ทำให้ยอดการจองต่ำเกิดจากการแปลข้อความผิดมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ การแปลมีปัญหาตั้งแต่ชื่อเมืองที่แปลผิดกว่าครึ่ง และพิมพ์ผิดเต็มไปหมด เช่น เมือง ก ถูกแปลเป็นเมือง ข ซึ่งอยู่คนละทวีป ทำให้คีย์เวิร์ดที่ใช้ก็ผิด คำโฆษณาก็ผิด

ตัวอย่างเช่น เมื่อเขาทดลองค้นหาคำว่า "华盛顿酒店" (Washington Hotel) ก็จะพบโฆษณาของลูกค้าปรากฏอยู่ทางด้านขวาของหน้าผลการค้นหา แต่เมื่อคลิกที่โฆษณานั้น มันจะพาไปที่หน้า landing page (หน้าเว็บที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับโฆษณา) ของลูกค้า ที่จะมีรายละเอียดของโรงแรมในเมืองวอชิงตัน แต่ที่ title ของหน้านี้กลับเขียนว่า "hotel in Zurich" เป็นต้น

เขาได้ทำการทดลองกับอีกหลาย ๆ คีย์เวิร์ด และพบว่าคำโฆษณาเกือบทั้งหมดมีการแปลที่ผิดพลาด ทั้งใน landing page หรือใน title มันดูมั่วไปหมด คีย์เวิร์ดที่ผิดนำไปสู่ landing page ที่ไม่ตรง หรือคีย์เวิร์ดที่ผิดทำให้ข้อความโฆษณาไปปรากฏผิดที่ผิดทาง สรุปว่าเงิน 10,000 ยูโรที่ลงไปนั้นเท่ากับสูญไปเปล่า ๆ

เมื่อเขาสอบถามผู้รับผิดชอบเรื่อง PPC ของลูกค้า เธอบอกว่าปัญหาเกิดจากการใช้เครื่องมือแปลฟรีจาก Baidu.com โดยไม่มีการตรวจสอบโดย proofreader เลย

กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเราที่ควรจะให้ผู้มีความรู้ที่เป็นเจ้าของภาษาเป็นผู้แปลหรือตรวจสอบข้อความก่อนจะนำไปใช้ในการทำตลาด

ทำนองเดียวกัน การแปลเว็บไซต์ก็เหมือนกัน การแปลผิด ๆ ถูก ๆ นอกจากจะทำให้เว็บไซต์ดูไม่น่าเชื่อถือในสายตาของเจ้าของภาษาและทำลายแบรนด์แล้ว บางครั้งมันอาจทำให้เว็บไซต์ของคุณไปอยู่ผิดที่ผิดทาง ห่างไกลจากกลุ่มเป้าหมายที่คาดหวัง จนไม่อาจจะหวังผลทางยอดขายอะไรได้เลย

ที่มา China Online Marketing

ธนาคาร ICBC สาขาภูเก็ต


วันนี้ผมแวะไปจ่ายเงินค่าเคเบิ้ลทีวีแถว บ.ข.ส. จึงถือโอกาสแวะเข้าไปในธนาคารไอซีบีซี (Industrial and Commercial Bank of China - ICBC) หรือที่คนจีนเรียกกันว่า 中国工商银行 (จงกว๋อกงซางหยินหัง) สาขาภูเก็ต เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการโอนเงินไปประเทศจีนครับ

สำหรับท่านที่มีธุรกิจธุรกรรมที่ต้องโอนเงินไปประเทศจีน ถ้าโอนผ่านธนาคารอื่น ๆ จะเสียค่าธรรมเนียม 650 บาทต่อครั้ง ไม่จำกัดจำนวนเงิน แต่ถ้าโอนผ่านธนาคาร ICBC จะเสียเพียง 600 บาท ก็ถือว่าประหยัดไปได้นิดหน่อย

เหตุที่ผมแวะไปสอบถามเรื่องนี้ก็เพราะว่า ผมเคยคุยกับเพื่อนที่เมืองฉงชิ่งว่าจะให้เขาช่วยดูงานแปลภาษาจีนให้ และจะโอนเงินค่าใช้จ่ายให้เขาทางธนาคาร พอเห็นสาขาของธนาคารจีนในภูเก็ตก็เลยต้องเข้าไปถามซะหน่อย

นอกจากนี้ ผมยังได้พูดคุยกับพนักงานมานิดหน่อย เกี่ยวกับที่มาของธนาคาร ICBC สาขาภูเก็ตนี้ จึงได้ทราบว่า เดิมทีที่ตรงนี้เป็นสาขาของธนาคารสินเอเชีย แต่ต่อมาได้ถูกเทคโอเวอร์ไปโดยธนาคาร ICBC ของจีน ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว และได้ทำการรีแบรนด์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ปัจจุบันที่สาขาก็มีบริการฝาก-ถอน โอนเงิน สินเชื่อ ทั่ว ๆ ไป ยังไม่มีบริการอะไรเป็นพิเศษสำหรับลูกค้าจีน หรือธุรกรรมที่เกี่ยวกับประเทศจีน ยกเว้นเรื่องค่าธรรมเนียมการโอนเงินตามที่ผมเล่าให้ฟังไปแล้ว

สำหรับที่ตั้งของสาขานี้ อยู่ตรงทางเข้า บ.ข.ส. ภูเก็ต ติดกับร้านก๋วยเตี๋ยวเบรคแตกเลยครับ

ธนาคาร ICBC ถือว่าเป็นธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งของจีน มีสาขาอยู่ทั่วประเทศจีน และกำลังขยายการลงทุนไปในต่างประเทศทั่วโลก โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาก็มีข่าวว่าได้เข้าไปซื้อหุ้นของธนาคารแห่งหนึ่งในอเมริกาด้วย

เศรษฐกิจจีนนี่มันอเมซิ่งจริง ๆ ครับ

อ้างอิง China ICBC bank to enter US market

26 มี.ค. 2554

Baidu ขึ้นมาเป็นบริษัทอินเตอร์เน็ตอันดับหนึ่งของจีนแล้ว


หากคุณคิดจะโปรโมทเว็บไซต์ให้คนจีนรู้จัก คุณจำเป็นต้องรู้จัก Baidu (ไป่ตู้) เพราะมันเป็นเว็บเครื่องมือค้นหา (search engine) ที่คนจีนใช้กันมากที่สุด พูดง่าย ๆ ก็คือมันเป็นเหมือน Google ในประเทศจีนนั่นเอง

หลายวันก่อนผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์เจ้าของร้านถ่ายภาพแต่งงานแห่งหนึ่งในเมืองภูเก็ต เว็บไซต์ของร้านเขามีเวอร์ชั่นภาษาจีนด้วย กว่าจะทำสำเร็จต้องให้ไกด์ทัวร์จีนมาช่วยตรวจปรู๊ฟกันอยู่หลายรอบ แต่เจ้าของกลับบอกผมว่าเขายังไม่รู้เลยว่าจะเช็คได้อย่างไรว่าคนจีนหาเว็บเขาเจอหรือเปล่า ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนจีนเขาค้นหาข้อมูลกันจากเว็บอะไร

ผมขออนุญาตแนะำนำวิธีสั้น ๆ ไว้ที่นี้ก็แล้วกัน

ก่อนอื่นต้องหาคำภาษาจีนที่จะใช้ในการค้นหาก่อน เช่น ถ้าเป็นร้านถ่ายภาพแต่งงานก็อาจจะเป็นคำว่า "普吉岛婚纱摄影" (แปลว่า Phuket wedding photo) ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่คงจะพิมพ์เองไม่ได้ อาจจะขอให้คนที่รู้ภาษาจีนช่วยพิมพ์ให้ หรือลองเข้าไปใช้เครื่องมือแปลของ Google ดู โดยให้แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาจีนแบบย่อ เมื่อได้คำแปลมาแล้วก็ก๊อปปี้มาใส่ในกล่องข้อความค้นหาของ Baidu (www.baidu.com) แล้วคลิกที่ปุ่มข้าง ๆ หรือกด Enter ก็ได้ คุณก็จะได้ผลการค้นหาคล้าย ๆ กับหน้าผลการค้นหาของ Google เลยครับ

ระหว่างที่เขียนบทความนี้ผมได้ทดลองแปลคำว่า Phuket wedding photo บน Google translate ดูด้วย ปรากฏว่ามันแปลออกมาเหมือนคำที่ผมคิดไว้เป๊ะเลย แจ๋วมั้ยล่ะ แต่บางคำพี่ Google ก็แปลผิดเหมือนกันนะครับ ถ้าอยากได้คำที่ถูกต้องชัวร์ ๆ ก็หาคนที่รู้ภาษาจีนช่วยดูให้ดีกว่าครับ

เอาล่ะ เรามาดูเรื่อง Baidu ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในจีนกันต่อดีกว่า

เป็นข่าวจากเว็บไซต์ China Internet Watch รายงานว่าหุ้นของบริษัท Baidu มีราคาสูงขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไปที่ 132.58 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น (ใช่แล้วครับ บริษัทไอทียักษ์ ๆ ของจีนเขาไปเข้าตลาดหุ้นที่อเมริกากันครับ) ทำให้บริษัท Baidu มีมูลค่าในตลาด 4.62 หมื่นล้านเหรียญ มากกว่าบริษัท Tencent (ยักษ์ใหญ่ไอทีอีกรายหนึ่งของจีน) ซึ่งมีมูลค่าตลาด 4.55 หมื่นล้านเหรียญ Baidu จึงแซงขึ้นมาเป็นบริษัทอินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

ในข่าวไม่ได้บอกว่าราคาหุ้นของ Baidu พุ่งขึ้นเพราะอะไร แต่หลายวันก่อนผมเจอข่าวที่ลือกันว่า Baidu กับ Facebook กำลังแอบเจรจาเรื่องความร่วมมือในจีนกันอยู่ ถ้าตกลงอะไรกันได้ล่ะก็ งานนี้หุ้นของ Baidu อาจจะพุ่งขึ้นแรงกว่านี้อีกก็ได้

ที่มาข่าว China Internet Watch

23 มี.ค. 2554

Chloe อีกหนึ่งแฟชั่นแบรนด์ดังที่รุกตลาดจีน

ขอบคุณภาพประกอบจาก luxuo.com

เป็นเรื่องที่คนรุ่นผมที่เคยไปทำงานในประเทศจีนเมื่อสิบกว่าปีก่อนรู้สึกทึ่งที่เห็นสินค้าแบรนด์เนมหรู ๆ ตบเท้าเข้าสู่ตลาดประเทศจีนกันอย่างคึกคัก สมัยก่อนเวลาเราไปเดินในห้างสรรพสินค้าจีนแทบไม่เจอสินค้ายี่ห้อต่างประเทศเลย แต่ลองไปดูเดี๋ยวนี้สิ ยิ่งกว่าห้างหรูที่กรุงเทพฯ เสียอีก

ตามเนื้อข่าวที่ผมนำมาจากเวบ The Wall Street Journal ระบุว่า ผู้บริหารของ Chloe คาดว่าจีนจะเป็นตลาดอันดับหนึ่งของแบรนด์ภายในสองปี

Chloe ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นจากฝรั่งเศส ในปีนี้มีแผนจะเปิดร้านใหม่อีก 4 แห่งในจีน จากเดิมที่มีร้านสาขาอยู่แล้ว 9 แห่ง และตั้งใจจะเปิดให้ถึง 23 แห่งภายในปี 2015

บริษัทที่ปรึกษา McKinsey & Co. ได้ประมาณการมูลค่าตลาดสินค้าหรูในจีนในปี 2010 ไว้ที่ 15,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง Chloe ตั้งเป้าว่าจะชิงส่วนแบ่งจากตลาดนี้ให้มากขึ้น

ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีร้านสาขาของ Chloe อยู่ประมาณ 40 แห่ง เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของแบรนด์ แต่มันจะถูกจีนแซงหน้าในไม่ช้านี้ เรื่องนี้ต้องขอบคุณการขยายตัวของประชากรเมืองและผู้หญิงวัยทำงานของจีนที่เก่งขึ้น

"จีนไม่เพียงแต่ไล่ตามโลก มันยังนำหน้าโลกด้วย" ผู้บริหารของ Chloe กล่าว

ผลการศึกษาของบริษัทวิจัย CLSA Asia-Pacific Markets ระบุว่า จีนจะเป็นตลาดสินค้าหรูที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2020 ซึ่งมูลค่าตลาดคาดว่าจะสูงกว่า 1 แสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้บริโภคจีนจะกลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของสินค้าแบรนด์เนมจำพวก กระเป๋าถือ นาฬิกา เสื้อผ้า และสร้างกำไรให้แก่ธุรกิจค้าปลีกระดับไฮเอนด์อย่าง Louis Vuitton และ Hermès

เว็บไซต์สำหรับลูกค้าจีนของ Chloe ได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และมีแผนที่จะโชว์งาน event ของตนบนเว็บไซต์ โดยหวังว่าจะจูงใจลูกค้ารุ่นหนุ่มสาวให้อยากเป็นเจ้าของสินค้าของแบรนด์บ้าง สนนราคาก็ไม่เท่าไหร่ กระเป๋าถือใบละ 13,000 ถึง 15,000 หยวน (ประมาณ 58,000 - 67,000 บาท) เท่านั้นเอง

และสินค้าของ Chloe จะขึ้นเว็บให้นักช้อปออนไลน์จีนซื้อหาได้ภายใน 18 เดือนนับจากนี้

ผมอยากรู้ว่าบรรดาอาเสี่ยเจ้าของโรงงานทำกระเป๋าก๊อปแถวเซินเจิ้นจะยอมรูดบัตรเครดิตซื้อของแท้ให้เมียหรือกิ๊กถือไปอวดชาวบ้านบ้างมั้ยนะ หุ หุ หุ

ที่มา The Wall Street Journal

22 มี.ค. 2554

Gaopeng (เกาเผิง) Groupon ในจีนเปิดตัวแล้ว


Groupon เป็นกิจการที่โด่งดังอย่างมากในช่วงปลายปี 2553 จากข่าวที่ว่า Google พยายามจะซื้อกิจการ Groupon ด้วยข้อเสนอเป็นเงิน 6 พันล้านดอลลาร์ แต่เจ้าของไม่ยอมขาย

หากคุณยังไม่รู้จัก Groupon ผมขอนิยามสั้น ๆ ในแบบของผมว่ามันคือเว็บขายคูปองลดราคาแบบเหมายกล็อต รายละเอียดเกี่ยวกับ Groupon ผมอยากให้อ่านบทความของ ดร. ภิเษก ชัยนิรันดร์ มีการวิเคราะห์โมเดลธุรกิจให้ด้วย

ในประเทศจีนมีข่าวการร่วมมือระหว่าง Groupon กับ Tencent ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของจีนมาตั้งแต่กลางเดือนมกราคม จนมีการเปิดตัวเว็บไซต์ Groupon ภาษาจีนในชื่อ Gaopeng (เกาเผิง) อย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจัดตั้งบริษัทในลักษณะการร่วมทุน

ตามรายงานข่าวระบุว่าเว็บไซต์ Gaopeng.com จะมีคุณสมบัติพิเศษบางอย่างที่มีเฉพาะในจีน นั่นคือ สมาชิกสามารถรวบรวมกลุ่มผู้ซื้อและสร้างข้อเสนอเพื่อซื้อสินค้าในราคาที่ต้องการได้ ในขณะที่ผู้ค้าสามารถติดตามข้อเสนอดังกล่าวและตอบรับดีลเมื่อมีจำนวนผู้ซื้อในกลุ่มมากพอ

Tencent เป็นหุ้นส่วนที่น่าจะมีส่วนช่วยให้ Gaopeng เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ในฐานะผู้ให้บริการ instant messaging รายใหญ่ที่สุดในจีนที่เรียกว่า QQ ซึ่งมีฐานสมาชิกมากกว่า 600 ล้านคน (มากกว่าจำนวนผู้ใช้ Facebook ซะอีก) โดยสมาชิก QQ สามารถใช้บัญชี QQ เพื่อ login เข้าใช้งานเว็บ Gaopeng ได้เลย นอกจากนี้ การใช้บัญชี QQ ซื้อคูปองในเว็บ Gaopeng ผู้ใช้ยังจะได้รับคะแนนสะสมพิเศษอีกด้วย เรียกว่าอวยกันสุด ๆ

ความสำเร็จอย่างรวดเร็วของ Groupon ที่อเมริกา ทำให้เกิดเว็บไซต์เลียนแบบมากมายในจีน มีอยู่รายหนึ่งถึงกับใช้ชื่อว่า Groupon.cn ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรเลยกับ Groupon ต้นฉบับ ในจำนวนเว็บเลียนแบบเหล่านี้ เจ้าที่เป็นผู้นำในตลาดขณะนี้คือ Juhuasuan (จวี้-หวา-ซ่วน) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Taobao ผู้นำในตลาด e-commerce ของจีน

Juhuasuan มียอดผู้เข้าชมเวบไซต์เดือนละเืกือบ 76 ล้านคน

ก็คงต้องดูกันต่อไปว่าเมื่อ Gaopeng ซึ่งมาจาก Groupon ต้นฉบับเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป

21 มี.ค. 2554

คนจีนก็ช้อปทางอินเตอร์เน็ตมากเหมือนกัน


ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด DDMA ซึ่งได้ทำการศึกษาตลาดออนไลน์ในเมืองใหญ่ระบุว่า ปีที่แล้วการซื้อขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตในประเทศจีนมีมูลค่า 82,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.46 ล้านล้านบาท) ตัวเลขดังกล่าวถึงแม้ว่าจะเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของมูลค่าการค้าปลีกทั้งหมด แต่ก็เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 95%

ตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ของจีนกำลังไล่ตามผู้นำในเอเชียอย่างเกาหลีและญี่ปุ่นมาอย่างกระชั้นชิดแล้ว

นักวิจัยได้ให้เหตุผลว่าการที่คนจีนหันมาซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตกันมากขึ้นก็เพราะว่าเมืองใหญ่ ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้กำลังขยายตัวออกไปทุกทิศทุกทาง บ้านพักอาศัยใหม่ ๆ ที่ราคาถูกกว่าเกิดขึ้นมากมายตามชานเมือง ในขณะที่ร้านค้าปลีกรายใหญ่ ๆ ยังตามไปเปิดสาขาใหม่ไม่ทันกับการขยายตัวของเมือง ดังนั้น คนจีนที่อาศัยอยู่นอกเมืองจึงมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าออนไลน์มากกว่า เพราะไม่ต้องเสียเวลาหลายชั่วโมงเพื่อเดินทางเข้าไปซื้อที่ร้านในเมือง

"ฉันซื้อสินค้าเกือบทุกอย่างทางอินเตอร์เน็ตยกเว้นของกินของใช้ประจำวัน ที่พักฉันอยู่ไกลมาก และคงต้องใช้เวลาสองถึงสามชั่วโมงเพื่อเข้าไปซื้อของในเมือง ส่วนการซื้อทางอินเตอร์เน็ตก็ได้ของเร็วมาก ของจะมาส่งถึงที่บ้านในวันที่สั่งซื้อเลย" สาวนักช้อปออนไลน์ซึ่งอาศัยอยู่ชานเมืองปักกิ่งอธิบาย

นอกจากนี้เธอยังสามารถคืนสินค้าได้ด้วยหากไม่พอใจ โดยพนักงานส่งสินค้าคนเดิมจะมารับสินค้าคืนถึงบ้านเช่นกัน

ฟังดูสะดวกสบายล้ำเลิศกว่าการช้อปออนไลน์บ้านเราเยอะเลย

นักวิจัยยังได้สัมภาษณ์นักช้อปออนไลน์อีกมากและพบว่าหลายคนมีประสบการณ์ที่ไม่น่าพอใจนักกับพนักงานขายสินค้าตามร้านค้า

พนักงานขายส่วนใหญ่มักจะเป็นแรงงานอายุน้อยจากต่างเมืองที่เข้ามาหางานทำในเมือง มีช่องว่างมากมายระหว่างพนักงานขายกับลูกค้า และส่วนใหญ่พนักงานขายเหล่านี้มักจะไม่ค่อยรู้อะไรมากนักเกี่ยวกับสินค้าที่พวกเขาขาย ดังนั้น นักช้อปที่ฉลาดมักจะทำการบ้านด้วยตัวเองโดยการศึกษาข้อมูลสินค้าจากอินเตอร์เน็ตก่อนจะตัดสินใจซื้อ

และก็เป็นไปได้มากที่เมื่อหาข้อมูลสินค้าจนพอใจแล้ว เขาก็อาจจะตัดสินใจซื้อทางอินเตอร์เน็ตไปเลย จะได้ไม่ต้องไปปวดหัวกับพนักงานขายอีก

"เราพบว่ามีหลายครั้งที่การซื้อเกิดขึ้นหลังจากใครสักคนหนึ่งในกลุ่มไปดูโทรศัพท์มือถือหรือ tablet computer ที่ร้านค้า แล้วกลับบ้านไปเล่าความประทับใจให้เพื่อนฟังทาง social media พวกเขาจะสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และในที่สุดเพื่อนในกลุ่มบางคนก็จะตัดสินใจซื้อสินค้านั้น โดยไม่จำเป็นต้องไปดูสินค้าที่ร้านกันทุกคน" หัวหน้าทีมวิจัยเล่าให้ฟังถึงกระบวนการที่เกิดขึ้น

ผู้บริโภคในจีนดูเหมือนจะเชื่อถือเว็บไซต์มากกว่าพนักงานขาย ต่างจากทัศนคติของผู้ซื้อบางกลุ่มในยุโรปหรืออเมริกาที่คิดว่าการซื้อทางอินเตอร์เน็ตพวกเขามีโอกาสถูกหลอกขายสินค้าปลอมมากกว่าการซื้อจากร้านค้าจริง ๆ

ในจีนซึ่งเต็มไปด้วยสินค้าปลอม กลับกลายเป็นว่าการซื้อจากเว็บไซต์ของผู้ผลิตโดยตรงทำให้นักช้อปจีนรู้สึกสบายใจกว่ามาก

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าการซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตในประเทศจีนนั้น "อินเทรนด์" ขนาดไหน ในตอนท้ายของรายงานฉบับนี้ได้อ้างตัวเลขเกี่ยวกับเว็บไซต์ Taobao (เถาเป่า) เว็บ e-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในจีนว่า มีร้านค้าออนไลน์เปิดทำการอยู่ในเว็บไซต์นี้ถึง 30,000 ร้าน และมีการซื้อขายสินค้าราว 53,000 รายการในทุก ๆ นาที

เห็นตัวเลขอย่างนี้แล้ว ผมว่าพ่อค้าแม่ขายบ้านเราน่าจะหาช่องทางเข้าไปขายกับเขาบ้างนะครับ

ที่มา BBC News

20 มี.ค. 2554

นักท่องเที่ยวจีนติดอันดับนักช้อปสินค้าหรูระดับโลก


จากเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยในบทความที่แล้ว ผมบังเอิญไปเจอรายงานอีกชิ้นนึง พูดถึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในยุโรป น่าสนใจดีครับ 

ที่ภูเก็ตผมเคยได้ยินพ่อค้าแม่ขายพูดถึงนักท่องเที่ยวจีนแตกต่างกันไป บางคนก็บอกว่าคนจีนมาเที่ยวอย่างเดียว ไม่ค่อยซื้อของ แต่บางคนก็บอกว่าคนจีนมีกำลังซื้อเยอะ กล้าซื้อของแพง ๆ

ผมคิดว่าคนจีนส่วนใหญ่ที่มาเที่ยวภูเก็ตคงไม่ใช่ลูกค้ากระเป๋าหนักแบบคนยุโรปหรืออเมริกา แต่ก็มีคนจีนส่วนหนึ่งที่ "รวยจริง ๆ" และใช้แต่ของราคาแพง ผมเคยได้ยินข่าวว่ากระเป๋าหลุยส์วิตตอง (ของแท้นะครับ) ขายดีมากในประเทศจีน สินค้าหรูหราและแบรนด์เนมระดับโลกก็หันไปทำการตลาดกับเศรษฐีจีนกันมากขึ้น

ในรายงานข่าวจากเว็บไซต์ Asiaone News ระบุว่า ตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนในร้านค้าปลอดภาษีสำหรับสินค้าแบรนด์เนมในยุโรปพุ่งสูงขึ้นมาก และแซงหน้าชาวรัสเซียไปแล้วเกือบเท่าตัว

โดยเฉลี่ยในปี 2553 นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายในร้านค้าปลอดภาษีในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 107% เฉพาะในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นถึง 130% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2552

หลายปีก่อนผมเคยได้ยินเรื่องทัวร์ศูนย์บาทของนักท่องเที่ยวจีนในเมืองไทย แต่ปัจจุบันกลายเป็นหนังคนละม้วนไปเสียแล้ว ในรายงานชิ้นนี้บอกว่า ถ้าไม่นับการช้อปปิ้งแล้ว ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนในแต่ละทริปประมาณ 2,000 ยูโร (ประมาณ 84,000 บาท) และค่าใช้จ่ายในการช้อปปิ้งคิดเป็นอัตราส่วนถึง 70% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเดินทางไปต่างประเทศแต่ละครั้ง 

ปีที่แล้ว โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายในร้านค้าปลอดภาษีคนละประมาณ 744 ยูโร (ประมาณ 31,200 บาท) ในขณะที่ชาวรัสเซียใช้จ่ายเพียง 368 ยูโร ส่วนนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกาใช้จ่าย 554 ยูโร และชาวญี่ปุ่น 521 ยูโร

สินค้าที่นักท่องเที่ยวชาวจีนซื้อกันมากที่สุดคือ สินค้าแฟชั่น เครื่องประดับ และนาฬิกา และชาวจีนชอบช้อปในห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายมากกว่าร้านค้าเดี่ยว ๆ

ครับ ถึงแม้ว่าจะเป็นสถิติที่เกิดขึ้นในยุโรป แต่ก็อาจจะทำให้เรามองเห็นภาพได้พอสมควรว่านักท่องเที่ยวจีนมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร คงจะเป็นประโยชน์บ้างกับธุรกิจการท่องเที่ยวในบ้านเรานะครับ

ที่มา Asiaone News

18 มี.ค. 2554

ปี 2553 นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น 45%

ปี 2553 ที่ผ่านมาเป็นปีที่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยเยอะมาก ที่ภูเก็ตเวลาผมไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าทีไร ก็มักจะเห็นนักท่องเที่ยวจีนเดินกันขวักไขว่เต็มไปหมด ทำให้ผมอยากรู้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เราเห็นเดินกันมากมายนี้ จริง ๆ แล้วมีเท่าไร มากน้อยกว่าปีก่อนเท่าไร

ก็ไม่ยาก สมัยนี้มีข้อมูลอยู่มากมายบนอินเตอร์เน็ต หาให้เจอก็แล้วกัน

ผมได้ข้อมูลมาจากเว็บไซต์ของกรมการท่องเที่ยว (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) [1] ซึ่งมีสถิติเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวและข้อมูลอื่น ๆ ให้ดาวน์โหลดหลายอย่าง ใครสนใจก็แวะไปดูได้นะครับ

ปี 2553 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด 1,127,803 คน เทียบกับปี 2552 จำนวน 777,508 คน เพิ่มขึ้น 45.05%


นั่นเป็นตัวเลขจากกองตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ สำหรับจังหวัดภูเก็ตเอง ผมสนใจตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเข้าพักตามโรงแรมต่าง ๆ ในจังหวัดด้วย โดยในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาพักในจังหวัดทั้งหมด 131,109 คน เทียบกับปี 2552 จำนวน 69,053 คน เพิ่มขึ้น 89.87%


โดยภาพรวมพอจะสรุปได้ว่าปีที่แล้วการท่องเที่ยวไทยได้นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นมาก และโดยเฉพาะที่ภูเก็ตเพิ่มขึ้นเกือบ 90% ต้องเรียกว่า "บูม" เลยล่ะครับ

ผมไม่ใช่นักพยากรณ์จึงบอกไม่ได้ว่าการบูมนี้จะยังบูมต่อไปในปีนี้หรือเปล่า แต่อย่างน้อยเราก็มีตัวเลขของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์แล้ว อาจจะทำให้บางคนคาดได้ว่าปีนี้จะเป็นอย่างไร

เดือนมกราคมปี 2554 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 129,805 คน เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2553 แล้วเพิ่มขึ้น 21.4% และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามา 152,852 คน เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2553 เพิ่มขึ้น 0.09%

เฉพาะในช่วงวันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่ามีนักท่องเที่ยวจีนบินตรงมาจังหวัดภูเก็ตประมาณสี่หมื่นคน จนยอดจองห้องพักโรงแรมตามชายหาดเกือบเต็ม 100% [2]

ในรายงานข่าวชิ้นนี้ยังยืนยันสิ่งที่ผมรู้มาก่อนหน้านั้นคือ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจีนส่วนหนึ่งที่เดินทางมาเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น ถึงแม้สัดส่วนในตอนนี้จะมีเพียง 10% แต่ผมเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะหากเรามีข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ฯลฯ ให้เขาได้ศึกษาและวางแผนการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่ และถ้าเป็นอย่างนั้น ปัญหานักท่องเที่ยวจีนถูกหลอกลวงทั้งจากทัวร์จีนหรือทัวร์ไทยน่าจะน้อยลงด้วยครับ

แล้วทั้งหมดนี้มันเกี่ยวอะไรกับบล็อกไชนีสเว็บทอล์คล่ะ ก็เกี่ยวตรงที่ถ้าเราจะทำเว็บไซต์ภาษาจีนหรือทำการตลาดออนไลน์ในประเทศจีน นักท่องเที่ยวเหล่านี้คือกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจกลุ่มหนึ่งของเราเลยทีเดียว และผมคิดว่ามันยังมีช่องว่างอยู่เยอะมาก เพราะเว็บที่คนไทยทำส่วนใหญ่เป็นเว็บภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ยังไม่ค่อยมีเว็บภาษาจีนสักเท่าไร

14 มี.ค. 2554

Renren (เหรินเหริน) คือ Facebook ของคนจีน


Renren.com ได้รับการกล่าวอ้างจากหลายแห่งว่าเป็นเว็บ Social network ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ด้วยตัวเลขจำนวนสมาชิกกว่า 160 ล้านคน และกำลังจะเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นที่อเมริกากลางปีนี้

ที่มาของเว็บไซต์สังคมออนไลน์แห่งนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2005 โดยนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยชิงหัว (มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนในกรุงปักกิ่ง) ได้สร้างเว็บไซต์ที่ชื่อว่า Xiaonei.com (เซี่ยวเน่ย - แปลตรง ๆ ว่าในโรงเรียน) สำหรับเป็นเวบสังคมออนไลน์ของกลุ่มเพื่อนในมหาวิทยาลัย ในขณะที่ Mark Zuckerberg บิดาของ Facebook เพิ่งสร้างเว็บไซต์ของเขาที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในอเมริกาได้เพียงหนึ่งปี

เว็บ Xiaonei.com มีหน้าตาคล้ายกับ Facebook มาก จนบางคนเรียกว่าเป็น Copycat ของ Facebook แต่มันก็ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มนักศึกษาจีน ต้องขอบคุณรัฐบาลจีนที่บล็อคเว็บไซต์ Facebook ทำให้ Xiaonei ไม่ต้องแข่งขันกับเว็บต้นแบบของตัวเอง

ในปี 2006 เว็บ Xiaonei ถูกซื้อไปโดยบริษัท Oak Pacific Interactive และในเดือนสิงหาคม 2009 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Renren (เหรินเหริน - ทุก ๆ คน) รวมทั้งเปลี่ยนโดเมนเป็น www.renren.com

บริษัท Oak Pacific Interactive ยังเป็นเจ้าของเว็บ Social network อีกแห่งหนึ่งที่ชื่อว่า Kaixin.com (ไคซิน) ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2008 และมีฐานสมาชิกประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งต่อมา Oak Pacific Interactive ได้ประกาศรวมเว็บไซต์สองแห่งเข้าด้วยกัน โดยสมาชิกเว็บหนึ่งสามารถใช้งานเว็บไซต์อีกเว็บหนึ่งได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำอีกครั้ง

เช่นเดียวกับ Facebook เว็บ Renren มีรายได้มาจากค่าโฆษณา ซึ่งมียอดขายโฆษณาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในแต่ละปี บริษัทเริ่มขายพื้นที่โฆษณาครั้งแรกในปี 2008 และมีการคาดการณ์ว่าจะมียอดขายโฆษณาสูงถึง 13,000 ล้านเหรียญในปี 2014

ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์ Renren.com จึงเป็นที่สนใจอย่างมากของนักการตลาดและเอเยนซี่โฆษณาที่ต้องการเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายในประเทศจีน

ผมได้ทดลองสมัครเป็นสมาชิกของเว็บ Renren.com ดูเหมือนกัน น่าสนใจตรงที่ผมสามารถระบุที่อยู่เป็นประเทศไทย และมีชื่อมหาวิทยาลัยในประเทศไทยให้เลือกในโปรไฟล์ด้วยครับ นอกจากนี้ผมยังเห็นดาราไทยหลายคนมี Fan page อยู่ในนั้นแถมมีแฟน ๆ ชาวจีนเยอะซะด้วย

หากคุณเชี่ยวชาญการทำตลาดบน Facebook อาจจะนำมาประยุกต์ใช้กับ Renren เพื่อทำการตลาดในประเทศจีนบ้าง อาจจะเวิร์คก็ได้ ของแบบนี้มันต้องลอง

10 มี.ค. 2554

Club Med ติดอันดับในหน้าแรกของ Baidu



ตอนที่ผมเขียนบทความเรื่อง "เว็บไซต์ภาษาจีน จำเป็นด้วยหรือ" นั้น ผมได้ทดลองค้นหาคำว่า 普吉岛 (แปลว่าภูเก็ต) บนเว็บไซต์ Baidu ซึ่งเป็น search engine อันดับหนึ่งในประเทศจีน เพื่อจะดูว่ามีเว็บไซต์ธุรกิจของภูเก็ตอะไรบ้างที่ติดอันดับ ผมพบว่าในหน้าแรกของผลการค้นหาส่วนใหญ่จะเป็นเว็บไซต์ของบริษัทเอเย่นต์จีนที่ขายแพ็คเกจทัวร์ รับจองโรงแรม หรือตั๋วเครื่องบิน แต่มีเว็บไซต์โรงแรมเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่ติดอันดับ คือ เว็บไซต์ของโรงแรม Club Med (Club Méditerranée)

ตอนนั้นผมก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าอะไรทำให้ Club Med ลงทุนลงแรงทำเว็บไซต์เวอร์ชั่นภาษาจีนและโปรโมทจนสามารถติดอันดับอยู่ในหน้าแรกของ Baidu ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็น keyword คำว่าภูเก็ตในภาษาจีน มาวันนี้ผมจึงพยายามหาคำตอบนั้นผ่าน Google จึงได้พบรายงานข่าวชิ้นนึงที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

เป็นรายงานข่าวในเว็บไซต์ Hotel News Resource ลงไว้ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ระบุว่ากลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของจีนที่ชื่อว่า Fosun ได้ซื้อหุ้นของ Club Med ไปถึง 7.1% ซึ่งมากพอที่จะทำให้ Fosun กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งที่สามารถเข้าไปมีส่วนในการกำหนดทิศทางการลงทุนของ Club Med ได้ โดยจะมีผู้แทนจาก Fosun เข้าไปนั่งอยู่ในบอร์ดบริหารของ Club Med ด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ ในรายงานข่าวชิ้นนี้ยังได้วิเคราะห์ถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดการท่องเที่ยวในประเทศจีนเอาไว้ด้วย นอกจากตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศจีนเองที่สร้างรายได้สูงถึง 1 ล้านล้านหยวนในปี 2009 แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ (outbound) ก็สูงมากถึง 40 ล้านคน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวขาออกที่มหาศาลขนาดนี้ย่อมนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจสำหรับรีสอร์ทของ Club Med ที่มีอยู่ทั่วโลกด้วย

Club Med นั้นได้ให้ความสนใจต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนมาหลายปีแล้ว โดยได้เข้าไปตั้งหน่วยขายไว้ตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดตลาดท่องเที่ยวในประเทศจีน และปัจจุบันได้มีสำนักงานอยู่ทั้งในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา และเฉิงตู ทำให้ในปี 2009 โรงแรม Club Med มีฐานลูกค้าในจีนมากถึง 23,000 ราย และได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะมีลูกค้าจีนมากถึง 2 แสนคนในปี 2015

ส่วน Fosun ซึ่งเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมในจีน มีเครือข่ายธุรกิจอยู่มากมาย จึงมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการเพิ่มยอดขายและขยายตลาดของ Club Med ในประเทศจีน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เว็บไซต์ภาษาจีนของ Club Med จะติดอันดับในหน้าแรกของผลการค้นหาบน Baidu

ก็เป็นอีกเืรื่องนึงของธุรกิจยักษ์ใหญ่ทำการตลาดระดับโลกที่สนใจตลาดจีนด้วย สำหรับธุรกิจโรงแรมขนาดกลางหรือเล็กคงไม่ใช่คู่แข่งกันโดยตรงอยู่แล้ว ผมเชื่อว่ายังมีนักท่องเที่ยวจีนระดับกลางอีกมากที่มองหาโรงแรมในระดับที่เหมาะสมกับกำลังซื้อของเขา ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำยังไงให้พวกเขาหาเราเจอได้ง่ายขึ้น และคงจะดียิ่งกว่าถ้าเขาสามารถติดต่อเราได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวแทนนายหน้านะครับ

ที่มา hotelnewsresource.com เรื่อง Club Mediterranee and Fosun Announce a Global Strategic Partnership in China

8 มี.ค. 2554

แปลเว็บไซต์เป็นภาษาจีน ให้ใครแปลดี?


สมมติว่าคุณได้อ่านบทความที่ผ่านมาของผม หรืออาจได้รับคำบอกเล่าจากคนอื่น ๆ จนเกิดความเชื่อแล้วว่าเว็บไซต์ของคุณควรจะมีภาคที่เป็นภาษาจีนกับเขาบ้าง ปัญหาที่ตามมาก็คือจะหาใครมาแปลเนื้อหาเว็บไซต์เป็นภาษาจีนดี

แม้ว่าตัวผมเองจะเคยเรียนภาษาจีนและเคยไปทำงานในประเทศจีนอยู่หลายปี แต่ขอบอกตามตรงว่าถ้ามีคนมาเสนองานแปลเว็บไซต์เป็นภาษาจีนผมยังไม่อยากรับแปลเองเท่าไหร่ เพราะผมรู้ตัวดีว่าผมไม่มีทางเขียนภาษาจีนได้เหมือนกับที่คนจีนเขาเขียนกัน โดยเฉพาะเป็นภาษาที่ใช้กันบนเว็บไซต์เชิงธุรกิจ ซึ่งต้องคำนึงถึงการใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องและสอดคล้องกับเป้าหมายทางการตลาดด้วย

งานแบบนี้มันก็คล้าย ๆ กับเวลาฝรั่งจะหาคนแปลเอกสารจากภาษาอังกฤษไปเป็นภาษาไทยนั่นแหละ ผู้แปลที่เหมาะสมที่สุดควรจะเป็นคนไทยที่รู้ภาษาอังกฤษดี และจะยิ่งดีขึ้นไปอีกหากมีประสบการณ์หรือมีความเข้าใจในธุรกิจของผู้ว่าจ้างด้วย

สำหรับงานแปลเว็บไซต์เป็นภาษาจีน ผมคงเลือกที่จะให้เพื่อนคนจีนแปลให้มากกว่าที่จะแปลเอง แต่ผมอาจจะตกแต่งแก้ไขถ้อยคำบางคำที่เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของประเทศไทย หรือปรับให้เหมาะสมกับการโปรโมทเว็บไซต์ได้บ้าง

หากว่าเว็บไซต์ที่คุณจะแปลเป็นเพียงเว็บไซต์เล็ก ๆ และไม่จำเป็นต้องละเอียดละออในการแปลมากนัก ก็อาจจะคุยกับครูสอนภาษาจีนของลูกคุณ หรือติดต่อครูจีนที่มาสอนภาษาในบ้านเราก็ได้ หาคนที่รู้ภาษาอังกฤษพอใช้ได้นะครับ แล้วคุณเองก็ต้องเตรียมต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษให้เขาด้วย เว้นแต่ว่าผู้แปลของคุณจะรู้ภาษาไทยด้วย ซึ่งผมว่ามีน้อยมากนะที่คนจีนจะรู้ภาษาไทยถึงขั้นอ่านออกเขียนได้น่ะ

ลืมไปได้เลยสำหรับคนที่กำลังคิดว่าจะใช้ Google translate หรือซอฟท์แวร์อื่น ๆ ในการแปลเว็บไซต์ ขนาดใช้คนที่รู้เรื่องแปลยังผิดเพี้ยนได้ แล้วนับประสาอะไรกับโปรแกรมที่แปลได้แค่เป็นคำ ๆ เท่านั้น ถ้าไม่อยากให้เว็บไซต์ของคุณมีอาการอย่างเดียวกันกับ "ซับนรก" ในซีดีก๊อปปี้หนังต่างประเทศถูก ๆ ล่ะก็ หาคนเป็น ๆ มีชีวิตจริง ๆ มาแปลดีกว่าครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

แปลเว็บไซต์เป็นภาษาจีน ต้องแปลทั้งเว็บเลยหรือเปล่า?

4 มี.ค. 2554

เว็บไซต์ภาษาจีน จำเป็นด้วยหรือ?

ถ้าผมเปิดอู่ซ่อมรถเล็ก ๆ แถวชานเมือง หรือเปิดร้านกาแฟแถวตลาดในเมือง ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีเว็บไซต์ภาษาจีนให้ยุ่งยากหรอกครับ แม้แต่เวบไซต์ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ไม่จำเป็นเหมือนกัน แต่ถ้าผมมีโรงแรมบูติคเล็ก ๆ สักแห่ง ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ป่าตอง กะตะ กะรน และมีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาเที่ยวกันเยอะมาก คงจะดีไม่น้อยหากว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเหล่านั้นสามารถหาเว็บไซต์ของผมเจอตั้งแต่พวกเขาเริ่มวางแผนจะมาเที่ยวเมืองไทย และสามารถจองห้องพักล่วงหน้าได้โดยตรงโดยใช้ภาษาของเขาเอง

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมได้รับงานแปลเล็ก ๆ ชิ้นนึงจากร้านสปาในเมืองภูเก็ต เป็นงานแปลรายการเมนูสปาเป็นภาษาจีน ผมถามเจ้าของร้านว่าลูกค้าของเขาส่วนใหญ่เป็นคนจีนอย่างนั้นหรือ เขาบอกว่าส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง ประมาณ 50% รองลงมาเป็นคนจีน 30% และอีก 20% เป็นคนไทย แต่ในเมนูของเขามีแต่ภาษาอังกฤษกับภาษาไทย ปีนี้มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวภูเก็ตเยอะมาก และเขาคิดว่าแนวโน้มจะมีมากขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงสมเหตุสมผลดีที่เขาอยากได้เมนูภาษาจีนไว้ใช้งานด้วย

ถ้าจะถามผมว่าจำเป็นด้วยหรือ ผมคงตอบแทนเจ้าของไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับว่าเขาประเมินคุณค่าของส่วนนี้อย่างไร และก็ขึ้นอยู่กับราคาที่เขาต้องจ่ายเพื่อให้ได้มันมาด้วย บางทีถ้ามันแพงเกินไปเขาอาจจะรอไปก่อนก็ได้

ผมว่าก็คล้าย ๆ กันกับกรณีเว็บไซต์นะครับ หากธุรกิจของคุณจำเป็นต้องมีเว็บไซต์ และลูกค้าส่วนหนึ่งของคุณเป็นคนจีน หรืออาจจะยังไม่ใช่ลูกค้าแต่เป็นกลุ่มที่คุณคาดหวังจะให้มาเป็นลูกค้าของคุณ แม้จะไม่ใช่กลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุด แต่ถ้ามีสัดส่วนมากพอ คุณก็อาจจะคิดเหมือนเจ้าของร้านสปาท่านนี้ก็ได้

ไม่จำเป็นต้องยกตัวเลขประชากรจีนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นหลักสิบล้านร้อยล้านมาเบิกตาให้ลุกวาวหรอกครับ เอาแค่ว่าในจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาเที่ยวภูเก็ตที่เราเห็น ๆ กันอยู่นี้ ให้มีสัก 5% หรือ 10% รู้จักธุรกิจของคุณโดยไม่ต้องผ่านนายหน้าตัวแทนใด ๆ เท่านี้ผมก็ว่าคุ้มค่าแล้วกับการมีเว็บไซต์ภาษาจีนแบบพื้นฐานไว้สักเว็บนึง

ผมลองค้นหาเว็บของธุรกิจในภูเก็ตที่มีเว็บภาษาจีนแล้ว พบว่ามีไม่มากเท่าไหร่ครับ ส่วนใหญ่จะเป็นเว็บโรงแรมระดับโลกที่มักจะมีหลายภาษาอยู่แล้ว แต่ก็มีเว็บท้องถิ่นบางเว็บเหมือนกัน อย่างเว็บ Suanluang Wedding ทำได้เหมือนกับเว็บจีนมากทีเดียว มีเพลงจีนให้ฟังด้วยครับ

Club Med Phuket

Marriott Phuket

Banyan Tree Phuket

Millennium Phuket

Phuket Fantasea

Thavorn Beach Village & Spa

Woraburi Phuket

Suanluang Wedding Studio

26 ก.พ. 2554

Weibo (เวยป๋อ) microblog ของจีน

ที่มา chinainternetwatch.com โดย Rocky Fu

เมื่อวานนี้ผมเอารถไปเข้าศูนย์เพราะแอร์เสีย ระหว่างที่นั่งรอคิวอยู่ก็ไปหยิบนิตยสาร TIME มาอ่านฆ่าเวลาเล่น ไม่ได้กระแดะอยากอ่านภาษาอังกฤษหรอกนะครับ เพียงแต่มองผ่านไปบนชั้นหนังสือของเขาแล้วไม่เห็นมีอะไรน่าอ่าน เลยหยิบมามั่ว ๆ เพราะใกล้มือและรูปหน้าปกสะดุดตาก็เท่านั้น แต่พอเปิดไปดูหน้าสารบัญเจอสกู๊ปเรื่องการเติบโตของ social media และ microblog ในประเทศจีน อ๊ะ เข้าเรื่องที่ผมกำลังสนใจอยู่พอดี

เนื้อหาโดยย่อก็พูดถึงที่มาของ social media และ microblog ในประเทศจีน ตั้งแต่สมัยที่ facebook และ twitter ยังไม่ถูกบล็อค จนเมื่อโดนบล็อคไปหลังเหตุการณ์จราจลในเมืองอุยกูร์ (Uighur) กลางปี 2009 จึงกลายเป็นช่องว่างให้เกิด microblog ของจีนขึ้น และได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อยู่ภายใต้การเซ็นเซอร์เนื้อหาอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ตาม มันจะเป็นงานที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับรัฐบาลหรือเจ้าของเว็บไซต์เองที่จะควบคุมเนื้อหาบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในยุคที่เป็น Web 2.0 ที่ผู้ใช้มีส่วนในการเผยแพร่เนื้อหาบนเว็บอย่างกว้างขวาง สุดท้ายก็สรุปว่าการเติบโตของ social media ในจีนมีส่วนช่วยในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ผ่านการให้ข้อมูลโดยประชาชนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อ ถือว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของ social media ซึ่งรัฐบาลกลางรู้สึกพอใจ และคงจะปล่อยให้เล่นกันต่อไป ตราบใดที่ชาวเน็ตไม่ไปแตะเรื่องที่ล้ำเส้นอย่าง Falungong หรือ Liu Xiaobo เข้านะครับ 

เราข้ามเรื่องการเมืองในแบบ TIME ไปดีกว่า ผมหยิบเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเขียนก็เพื่อทำความรู้จักกับ microblog ของจีนที่ชื่อว่า Weibo (ภาษาจีนอ่านว่า เวยป๋อ แปลตรง ๆ ว่า microblog เลยครับ) อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่ามันเกิดขึ้นได้เพราะมีช่องว่างหลังจากที่ทั้ง facebook และ twitter โดนบล็อค มันถูกตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม 2009 โดย Sina (มีชื่อในภาษาจีนว่า ซินลั่ง) เว็บท่าชื่อดังของจีน ซึ่งประสบความสำเร็จในฐานะผู้รวบรวมข่าวสารภาษาจีนออนไลน์มาตั้งแต่ยุคแรกของธุรกิจอินเตอร์เน็ตในจีน

ในขณะที่ Baidu ครองตลาด search engine ไปเรียบร้อยแล้ว Sina เองกำลังมองหาช่องทางใหม่ในการขยายธุรกิจของตัวเอง และเมื่อเปิดตัว Weibo ไปได้ไม่นาน มันก็มีบริการที่ล้ำหน้าไปกว่าต้นแบบอย่าง twitter เสียอีก ผู้ใช้สามารถที่จะโพสต์รูปภาพหรือวีดีโอบน Weibo ได้โดยตรง ในขณะที่ twitter ยังต้องอาศัยผู้ให้บริการภายนอกมารองรับเรื่องนี้ นอกจากนี้ Weibo ยังไม่เพียงให้ผู้ใช้สามารถ retweet ข้อความของคนอื่นเท่านั้น แต่ยังสามารถ comment หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมในแต่ละข้อความได้ด้วย

"ในตอนเปิดตัวนั้นมันก็เป็นบริการที่ก้าวหน้าไปกว่า twitter แล้ว คนมักจะคิดว่ามันเหมือนกับ twitter จริงอยู่ที่มันมีหลายอย่างเหมือน twitter แต่ผมคิดว่ามันเป็นส่วนผสมระหว่าง twitter กับบางอย่างใน facebook มากกว่า" CEO ของ Sina ให้สัมภาษณ์กับ TIME อย่างนั้น

ผมเองแทบไม่ค่อยได้ใช้ twitter เท่าไหร่ เพราะเพื่อน ๆ เล่นกันแต่ facebook จึงไม่รู้ว่าที่เขาคุยนั้นจริงหรือเปล่า แต่อ่านจากคำสัมภาษณ์แล้วรู้สึกว่าเขา "มั่น" มากเลยนะครับ

แม้จะให้บริการภายใต้ข้อจำกัดของการเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อให้ทางการจีนเปิดทางให้ แต่ Weibo ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในเวลาอันรวดเร็ว ในเดือนตุลาคมปี 2010 หรือ 14 เดือนหลังการเปิดตัว บริษัท Sina ก็ประกาศว่า Weibo มีจำนวนผู้ใช้ถึง 50 ล้านคนแล้ว แถมยังบอกอีกว่าจะมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 10 ล้านคน ยังไม่พอ เขายังประมาณการยอดผู้ใช้ว่าจะถึง 150 ล้านคนภายในปี 2011 นี้ - โอ้ มาย จอร์จ !

ไม่ต้องไปตกตะลึงอึ้งอ้ำอะไรกับเขานักหรอกครับ สำหรับประเทศจีนผมก็เห็นตัวเลขเป็นสิบล้านร้อยล้านเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า microblog เจ้านี้เขาแรงจริง ๆ แม้จะมีคู่แข่งที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วเคลมว่ามียอดผู้ใช้ในระดับที่จะเป็นคู่แข่งกันได้ แต่ Weibo ก็ยังเป็นผู้นำตลาดอยู่อย่างเหนียวแน่น

ถ้าอยากรู้เรื่อง Weibo ของ Sina มากกว่านี้ ก็สามารถไปดาวน์โหลดข้อมูล (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่ chinainternetwatch นะครับ มีข้อมูลละเอียดทีเดียว และผมเชื่อว่าถ้าคุณสนใจการตลาดอินเตอร์เน็ตในจีนล่ะก็ คุณคงต้องเหลียวมอง Weibo เอาไว้บ้างแหละ

ที่มา บางส่วนจากนิตยสาร TIME, Feb 21, 2011 เรื่อง Wired Up และ Chinainternetwatch.com

25 ก.พ. 2554

SEO ในประเทศจีน


สำหรับผู้ดูแลเว็บไซต์โดยทั่วไป ผมคงไม่ต้องอธิบายความอะไรอีกสำหรับคำว่า SEO แต่เนื่องจาก blog นี้ตั้งใจเขียนเพื่อเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการด้วย จึงขออนุญาตพูดถึงนิดเดียวครับ

ตามนิยามของผมเอง SEO หรือ Search Engine Optimization ก็คือการปั้นเว็บไซต์ให้เป็นดาวเด่น เพื่อให้ได้อันดับที่ดีในผลการค้นหานั่นเอง พอเป็นดาวเด่นจนได้อันดับต้น ๆ ในหน้าแสดงผลการค้นหาแล้ว จำนวนผู้ชมเว็บไซต์ก็จะมีตามมาอย่างมากมาย สมมติว่าคุณเป็นเจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งในป่าตอง ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากคนทั่วโลกที่ค้นหาคำว่า "hotel in patong” แล้วเว็บไซต์ของคุณอยู่ในผลการค้นหาอันดับหนึ่งของ Google !!!

หลายปีก่อน สมัยที่ผมเองยังไม่เคยได้ยินคำว่า SEO เหมือนกัน มีเพื่อนฝรั่งคนหนึ่งเขาทำเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์อยู่ เริ่มต้นจากที่ไม่มีใครรู้จักเว็บไซต์ของเขามากนัก เขาก็พยายามทำสิ่งที่เขาเรียกในตอนนั้นว่า "โปรโมท" ด้วยวิธีต่าง ๆ นานา ตามที่เขาขวนขวายเรียนรู้มา ใช้เวลาปั้นอยู่สองถึงสามปี แล้ววันหนึ่งเมื่อเขาค้นหาด้วยคำที่เป็นชื่อสินค้าของเขาใน Google เว็บไซต์ของเขาขึ้นมาอยู่ที่อันดับหนึ่งของผลการค้นหา มันเป็นวันที่เขามีความสุขมาก เขาเล่าให้ผมฟังด้วยหน้าตาที่สุดแสนจะภาคภูมิใจ ตามมาด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ ที่สำคัญ เพื่อนผมคนนี้หาได้เคยร่ำเรียนอะไรทางด้านไอทีมาแม้แต่น้อย แถมเขายังทำทั้งหมดด้วยตัวเองโดยไม่ต้องจ้างใครเลยด้วย ยอดไปเลยใช่มั้ยครับ

กลับมาเข้าเรื่อง SEO ในประเทศจีนกันต่อดีกว่า เรื่องนี้ถ้าจะเขียนให้ครบถ้วนกระบวนความ คงต้องใช้เวลาและเนื้อที่อีกมาก ผมจึงขอพูดถึงภาพรวมทั่ว ๆ ไปก่อน ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ เอาไว้ค่อยว่ากันทีหลัง ตามแต่โอกาสจะอำนวยนะครับ

Search Engine

ในบ้านเรา search engine ที่คนใช้กันมากที่สุดก็คือ Google เหมือน ๆ กับประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ Google ครองตลาดตรงนี้อยู่ แต่ในประเทศจีนไม่เป็นอย่างนั้นครับ อันดับหนึ่งคือ Baidu (ไป่ตู้) ซึ่งมีรายงานล่าสุดว่าในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว มีส่วนแบ่งการตลาดของ search engine ในประเทศจีนถึง 75.5% ดังนั้นการทำ SEO สำหรับกลุ่มเป้าหมายคนจีน (แผ่นดินใหญ่) ก็ต้องเน้นไปที่ Baidu มากกว่า Google ครับ

ภาษาที่ใช้

ในที่นี้เรากำลังพูดถึงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่นะครับ ภาษาที่เขาใช้กันจึงเป็นภาษาจีนกลาง ใช้ตัวอักษรจีนแบบใหม่ หรือ simplified chinese ซึ่งแตกต่างจากตัวอักษรที่ใช้ในไต้หวัน ฮ่องกง หรือมาเก๊า ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ตัวอักษรจีนแบบเก่า หรือ traditional chinese ดังนั้น ถ้าคุณคิดจะทำเว็บไซต์ภาษาจีนให้คนจีนในแผ่นดินใหญ่ดู ควรจะเลือกใช้ภาษาแบบ simplified chinese จะได้ผลดีกว่า แต่ถ้าคุณตั้งใจจะเหมารวมเอาทั้งหมดเลยและคิดว่ามันคุ้มค่ากับการลงทุน ก็อาจจะทำทั้งสองแบบเลยก็ได้ ผมก็เคยเห็นเว็บไซต์ขนาดใหญ่บางแห่งทำทั้งสองเวอร์ชั่นเหมือนกัน

Domain และ Hosting

มีคนแนะนำให้จดโดเมนที่ลงท้ายด้วย .com.cn หรือ .cn และเช่าโฮสต์ในประเทศจีน จะทำให้ได้อันดับในผลการค้นหาดีกว่า นอกจากนี้ การใช้โฮสต์ท้องถิ่นยังทำให้ผู้ชมในจีนโหลดหน้าเว็บของคุณได้เร็วขึ้นด้วย แต่การที่จะใช้บริการจดโดเมนและเช่าโฮสต์ในประเทศจีนนั้นอาจไม่สะดวกนักหากคุณไม่มีคนประสานงานในประเทศจีน และคุณอาจต้องขออนุญาตจดทะเบียนเว็บไซต์ตามข้อบัญญัติของกฎหมายจีนด้วย ซึ่งผมคิดว่าคงจะยุ่งยากกว่าเมืองไทยมากทีเดียว

การฝาก link

คือการสร้าง link จากเว็บอื่นให้เชื่อมต่อมาที่เว็บของเรา ยิ่งทำได้มากก็ยิ่งมีผลดีต่อการจัดอันดับในผลการค้นหา บางคนเรียกงานนี้ว่าเป็นเหมือนยาขมแต่ก็จำเป็นสำหรับการทำ SEO ในกรณีของ Baidu หลายคนพูดตรงกันว่า Baidu ให้ความสำคัญกับจำนวนของ link มากกว่าคุณภาพ ซึ่งต่างกับ Google ที่เน้นคุณภาพมากกว่าจำนวน ดังนั้น คุณคงต้องขยันมากขึ้นในการฝาก link ให้ได้มาก ๆ อย่างน้อยก็ควรจะให้ได้มากเท่า ๆ กับเว็บคู่แข่งล่ะครับ

Social media

อาจจะไม่เกี่ยวกับการทำ SEO โดยตรง แต่หลายคนก็รับรู้ข่าวสารกันมามากแล้วว่า social media อย่าง facebook หรือ twitter นั้นโด่งดังขนาดไหน และเป็นช่องทางใหม่ในการโปรโมทหรือทำการตลาดผ่านอินเตอร์เน็ตที่กำลังมาแรงสุด ๆ น่าเสียดายที่วิทยายุทธ์ในการโปรโมทผ่าน facebook หรือ twitter นั้นใช้ไม่ได้ในประเทศจีน เพราะโดนบล็อคทั้งคู่ และคงจะถูกบล็อคไปอีกนาน

แต่ก็ไม่ถึงกับหมดหวังซะเลยทีเดียว เพราะจีนก็มี social media สัญชาติจีนเองเหมือนกัน และก็กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตของจีนมากขึ้นด้วย คุณอาจจะประยุกต์วิธีการที่คุณใช้ใน facebook, twitter มาใช้กับ social media ของจีนก็ได้

อย่างที่ผมบอกไปในตอนต้นแล้วว่า เรื่องการทำ SEO นั้นเป็นเรื่องยาว มีหัวข้อที่น่าพูดถึงอีกเยอะแยะ ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญนักหรอก อาศัยเรียนรู้จากคนอื่นทั้งนั้น แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมากจริง ๆ สำหรับคนทำเว็บไซต์ เพื่อนฝรั่งที่ผมเพิ่งเล่าให้ฟังไปนั้นเคยบอกผมว่า การสร้างเว็บไซต์ขึ้นมานั้นถือเป็นเพียงงานขั้นแรกที่ง่ายที่สุดของกระบวนการทั้งหมด งานชิ้นโตที่คุณต้องทำหลังจากนั้นสำคัญกว่ามาก นั่นคือทำอย่างไรให้ผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายรู้จักและหาเว็บไซต์ของคุณเจอ ผมคิดว่า SEO นี่แหละคือคำตอบที่ถูกต้องที่สุดครับ